เมื่อสปิริตหลู่ซิ่นมากวนใจ

ประวัติจริงของอา Q / “หลู่ซิ่น” เขียน / “เดชะ บัญชาชัย” แปล

ช่างกวนใจเหลือหลายที่ฉันอ่าน “อมตนวนิยายแห่งจีนใหม่: ประวัติจริงของอา Q” ของหลู่ซิ่น ไม่เข้าหัว ไม่เข้าใจ รู้สึกกวนใจประหนึ่งว่ามีแมลงหวี่มาตอมก้นจนฉันต้องปัดหางหวือๆ เพราะเหตุนั้นฉันจึงอยากทอดน่องไปรอบๆ ตัวเรื่อง และเล็มเหล่าคำนำ-คำนิยม-คำสรรเสริญ ที่ีประกบหัวท้ายเรื่องในหนังสือฉบับภาษาไทยที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อราวหกสิบปีที่แล้ว ฉันสงสัยว่าทำไมคนเขาถึงได้ดื่มด่ำและเชิดชูเรื่องเล่าเรื่องนี้นัก —ใครกันเล่าที่เป็นคนเหล่านั้น ถ้าไม่ใช่นักประพันธ์-นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งยงถึง 4 ท่าน อันได้แก่ ทำนุ นวยุค, กุหลาบ สายประดิษฐ์, สุภา ศิริมานนท์, และสนาน วรพฤก!  โอ เพียงได้ยินชื่อก็รู้สึกมีวิญญาณของวีรชนล่องลอยอยู่รอบกาย โอ แมลงหวี่ทั้งสี่ ช่างกวนใจ! มาฟังเสียงพวกเขากันเถอะ

-1-

“ทำนุ นวยุค” ได้เขียนแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้ยาวหลายหน้ากระดาษในปี 2495/1952:

“หลู่ซิ่น นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ได้เขียนหัสนิยายเรื่อง “ประวัติจริงของอา Q” ไว้เมื่อ 30 ปีก่อนโน้น ด้วยมุ่งจะเปิดโปงให้เห็นปมด้อยแห่งชาติของจีนที่สืบเนื่องกันมาช้านาน เพื่อจะได้หลุดพ้นออกจากปลักแห่งความงมงายที่คิดแต่จะเอาชนะด้วยใจ, หาความสุขจากจินตนาการ  บัดนี้ ความคิดดังกล่าวได้หายไปจากเมืองจีนแทบหมดสิ้นแล้ว แต่ยังล่องลอยอยู่ตามที่อื่นๆ ทั่วไป แม้ที่ข้างบ้านของท่าน…หรือบางทีใกล้กว่านั้น” (17-18)

[ฉันสะดุ้งเล็กน้อยที่ทำนุรู้สึกมั่นใจพอจะบอกว่า ความคิดงมงายได้หายไปจากเมืองจีนแทบหมดสิ้นแล้ว การปฏิวัติมันช่างดูยิ่งใหญ่และเบ็ดเสร็จอย่างที่เราไม่อาจจินตนาการได้อีกแล้ววันนี้]

“สาระอันสำคัญยิ่งของเรื่อง “ประวัติจริงของอา Q” นั้น . . . หลู่ซิ่นต้องการจะวาดภาพคนจีนสมัยนั้น ต้องการกำจัดความคิดที่ “เอาชนะคนอื่นทางใจ” ซึ่งเป็นเนื้อร้ายที่งอกในสมองของคนจีน (หรืออาจจะคนชาติอื่นด้วย) ให้หายขาดไป ฉะนี้จึงมีผู้วิจารณ์ว่า อา Q นั้นมิใช่แบบ (Type) ของบุคลิก (Character) แต่เป็นการแสดงออกของสปิริตอย่างหนึ่งซึ่งเป็นนามธรรม มองไม่เห็น ให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของรูปธรรมที่มีตัวมีตน สปิริตอา Q นี้สิงอยู่ในทุกชนชั้น ไม่ใช่เฉพาะในตัวอา Q ซึ่งเป็นชนชั้นกรรมาชีพในชนบท” (20)

“สปิริตอา Q เปรียบเสมือนมอร์ฟีนที่คนผู้น่าสงสารนำไปเสพติด ด้วยหวังจะบำบัดความทุกข์ของตัว และในบางครั้งก็ถูกหลอกหรือบังคับให้กิน” (22)

[ถ้า “สปิริตอา Q” เป็นเสมือนยามอร์ฟีนที่ผู้ถูกกดขี่เสพติด แล้ว “สปิริตหลู่ซิ่น” ตามที่ทำนุเข้าใจ จะเป็นยาประเภทไหนกัน? ถ้าเป็นยาที่ทำให้คนเรา “ตาสว่าง”​จากอาการหลงผิด “จิตนิยม” อย่างที่เรียกกันแล้ว อาการที่ว่านี้จะเป็นอาการหลงงมงายใน “นโยบายขายฝัน” ของพ่อทักษิณ หรือจะเป็นอาการหลงผิดคิดว่าพ่อไทยไม่เหมือนใครในโลกของ “มวลมหาประชาชน” กันนะ? ทำนุบอกว่า “สปิริตอา Q” สิงอยู่ในทุกชนชั้น แต่ทำไมนิยายเรื่องนี้จึงต้องให้มันสิงอยู่ในตัวละครชนชั้นกรรมาชีพในชนบทด้วยเล่า? ถ้าคนกรรมาชีพในชนบทมาอ่านแล้วเกิดสมเพชในตัวอา Q เขาก็จะตื่นรู้พอจะไล่ปีศาจตนนี้ออกไปเช่นนั้นหรือ?]

-2-

“สรง พฤกษพร” (สนาน วรพฤก) ในบทความ ““หลู่ซิ่น” และความคิดของหลู่ซิ่น” กล่าวไว้ว่า:

“[หลู่ซิ่น]มักกล่าวเสมอว่าเขา “ชิงชังอย่างที่สุด” ที่มีผู้กล่าวว่า นวนิยาย เป็น “เรื่องอ่านเล่น” เขาโจมตีพวกที่ถือคติ “ศิลปเพื่อศิลป” อยู่เสมอ เพราะเขาถือว่า “ศิลปต้องเพื่อชีวิต”

“อุดมคติอันนี้แหละ ที่หนุนให้หลู่ซิ่นกลายเป็นนักเขียนฝ่าย Realist ผู้เก่งกล้า,​เป็นนักเขียนของประชาราษฎร์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นนักเขียนคนแรกของจีนที่เข้าใจแจ่มแจ้งในความทุกข์และความต้องการของมหาชน มีความรู้สึกกลมกลืนอยู่กับความรู้สึกของมหาชน, เป็นปากเสียงตัวแทนของมหาชน และดิ้นรนต่อสู้ร่วมกับมหาชน” (125-126)

[การเข้าใจในความทุกข์และความต้องการของ “มหาชน” ที่สนาน วรพฤก พูดถึง นี่จะนับเป็นประชานิยมได้หรือเปล่าหนอ? หากเป็นได้ ฉันก็สงสัยเป็นที่สุดว่าทำไมตัวละครทั้งหลายในเรื่อง “ประวัติจริงของอา Q” นั้นไม่มีใครน่านิยมเลย ไม่มีใครในเรื่องนี้ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของมหาชนในสังคมปฏิวัติได้เลย ฉันสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นแล้ว “มหาชน” ที่หลู่ซิ่นเป็นปากเสียงและตัวแทนนั้น เหตุไฉนจึงยังไม่มาปรากฏตัวใน “อมตนวนิยาย” ที่เล่าเรื่องของสามัญชนเรื่องนี้? หรือจะเป็นอย่างที่ทำนุได้เขียนบอกไว้ว่า ในการปฏิวัติซิ่งไฮ่ที่ล้มราชวงศ์เช็งเมื่อปี 1911 นั้น “ประชาชนยังนอนหลับอยู่ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่” (18)? หรือถ้าหากเรื่องนี้เป็น “หัสนิยาย” อย่างที่จิตรบอกไว้ ผู้อ่านจะหัวเราะให้เรื่องของอา Q เพื่อการใด?]

-3-

แล้ว “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) เล่า เขาว่าอย่างไร? ในคำนำ “วรรณคดีใหม่ของจีน”​เขาเขียนไว้ว่า:

“วรรณคดีใหม่คือวรรณคดีของมหาชน เป็นวรรณคดีที่เสนอความเป็นจริงในชีวิตของมหาชน เพื่อส่งเสริมชีวิตที่ดีขึ้นของมหาชน เพื่อความไพบูลย์และความงามแห่งชีวิตแห่งมหาชน อันเป็นการตรงกันข้ามกับความสนใจของวรรณคดีเก่าที่เสนอภาพชีวิตของชนชั้นสูงและชนชั้นที่มั่งคั่งที่มีอยู่เพียงหยิบมือหนึ่ง และก็เป็นการเสนอเพื่อเชิดชูสถานะของผู้กดขี่เพียงหยิบมือหนึ่งนั้นให้ดำรงคงอยู่ตลอดกาล” (13-14)

[พูดถึงความใหม่ เดี๋ยวนี้ “วรรณคดีใหม่” ที่ว่ากลายเป็นของล้าสมัยไปเสียแล้ว แต่อันที่จริง กว่าที่หลู่ซิ่นจะมาเป็นที่นิยมสูงสุดในหมู่นักศึกษา-ประชาชนยุค 14 ตุลาคม 2516/1973 หนังสือเล่มนี้ก็กลายเป็นของคลาสสิก เป็น “อมตนวนิยาย” ที่มีอายุเป็นครึ่งศตวรรษแล้ว]

-4-

สุภา ศิริมานนท์ ผู้เขียนคำนำสมัยรวมเล่มครั้งแรกปี 2500/1957 คัดลอกจดหมายของ “เดชะ บัญชาชัย” (เดโช บุญชูช่วย) ผู้แปล มาลงไว้:

“…ผมทราบเจตนารมณ์ของผู้พิมพ์ดี จากคำนำที่คุณเขียน และจากทางอื่นๆ บ้าง จนขณะนี้ผมมีความพอใจที่สุดแล้วที่เรื่องนี้มีคนสนใจกันพอสมควร ผิดกับเมื่อตอนลงพิมพ์ในหนังสือ อักษรสา์สน และถ้าจะเทียบเวลาที่หลู่ซิ่นเขียนนับย้อนหลังไปก็หลายสิบปีทีเดียว รู้สึกว่าเราตื่นกันช้าเหลือเกินสำหรับเรื่องวรรณคดีของสามัญชน” (8)

[ฉันได้ยินเสมอมา ที่คนพูดกันว่า ประชาชนยังไม่พร้อม ได้ยินบ่อยพอๆ กับที่คนพูดกันว่า ประชาชนตื่นตัวแล้ว ฟังบ่อยเข้ามันก็ทะลุออกหูขวา จนเลิกสนใจ เพราะทุกวันฉันก็ตื่น พอกลางคืนฉันก็หลับ บางวันตื่นเช้า บางวันตื่นช้า บางวันตื่นตัว แต่ก็ตื่นทุกวันมาตั้งแต่จำความได้แล้ว แต่ก็ยังไม่วายได้ยิน “ทำนุ นวยุค” ร้องเรียกมาอีกว่า “ตื่นเถิด! อา Q ทั้งหลาย!” (22)]

-5-

ชัดเจนว่านักประพันธ์-นักหนังสือพิมพ์เหล่านี้เชื่อเช่นเดียวกับหลู่ซิ่นว่าศิลปะต้องรับใช้ชีวิต แต่การที่พวกเขาสรรเสริญ “ประวัติจริงของอา Q” ในฐานะวรรณคดีที่ Realist (สัจจะนิยม) เสียจนสิ้นสภาพการเป็นมายาคติ ชักทำให้ฉันไม่ค่อยแน่ใจว่า “สปิริต” (วิญญาณ/ปีศาจ) ของพวกเขามาปลุกระดมใคร หรือปลุกปลอบใครในโลกของฉันบ้าง มาเข้าฝันใคร หรือเข้าสิงใครในโลกของฉันบ้าง ฉันไม่แน่ใจว่าเรายังตื่นอยู่ในโลกใบเดียวกันหรือหลับฝันอยู่ในโลกคนละใบ… คิดไปคิดมาควายแดงอย่างฉันชักจะง่วง ไม่รู้จะคิดไปทำไม เอาละ ในฐานะที่ฉันเป็นพวกที่ชอบหาความสุขจากการคิดฝันจินตนาการ ฉันก็ได้คิดว่าอย่างน้อยที่สุด การได้สนทนากับวิญญาณของผู้ยิ่งยงทั้งสี่ก็ทำให้ฉันนอนหลับตาพริ้มยิ้มสบาย ไม่มีแมลงหวี่มารบกวน.

Standard

ภาษาต่างด้าว: ไม่ใช่ภาษาของเรา แต่ก็ไม่ใช่ภาษาของเขาเสียทีเดียว

ชัชวาลย์ โคตรสงคราม, เสียงกลองน้ํา, สํานักพิมพ์หนังสือแม่น้ําโขง,​ 2557
+ คําสัมภาษณ์ของเขาใน WRITER 30 “เลือดอีสาน,” หน้า 78-85

chatchawal_siangklongnam

ฉันใช้เวลานานมากกว่าจะอ่านรวมเรื่องสั้น “เสียงกลองน้ํา” จนจบ เรื่องแรกๆ อ่านไปด้วยความพิศวงงงงวย ไม่เข้าใจ อยากจะเขวี้ยงหนังสือออกให้พุ่งลิ่วเหมือนวัตถุลึกลับสีขาวในเรื่อง “ชีวิตที่มี ระดับ” ที่ “พุ่งลิ่วเข้ามาปะทะหน้าอกกับใบหน้าเขาอย่างแรง จนท้องน้ํากระจายพร้อมกับเสียงหวีดร้อง” (55) แต่ตั้งแต่เรื่อง “คุณลุงของพระเจ้า” เป็นต้นไป ตัวหนังสือเหล่านี้ก็นําความหลากใจเหมือนน้ําที่จู่ๆ ก็ไหลหลากในสายตาของสาววัยกลางคนผู้กลับไปเยี่ยมบ้านเก่าใน “การกระโดดน้ําครั้งล่าสุด” นําความอัศจรรย์ใจบางอย่างที่รุนฉันให้อ่านไปเรื่อยๆ ทีละเรื่อง ทีละเรื่อง

คงเป็นเพราะฉันไม่เคยอ่านอะไรแบบนี้มาก่อน เรื่องสั้นที่ค่อยๆ ซึมเข้ามาในสายตา ด้วยรายละเอียดของตัวหนังสือที่เขียนด้วยหมึกหยาดฝนรินกลิ่นดอกมันปลา สร้างบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง อีกโลกหนึ่งที่ฉันเองไม่คุ้นเคยในโลกความจริงและยังไม่คุ้นเคยอีกในโลกการอ่าน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนที่ปกในประกาศไว้ว่า “การอ่าน / คล้ายสะพานไม้ลําเดียว / สําหรับข้ามน้ําห้วยแห่งความตื้นเขิน / ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม” คงเป็นเพราะฉันไม่รู้จักความลึกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม

ตัวละครในเรื่องสั้นของ ชัชวาลย์ โคตรสงคราม มักเป็นตัวละครชนชั้นแรงงานที่มีชาติพันธุ์อื่นนอกเหนือจากความเป็นไทย ความละเมียดละไมในการเล่าเรื่องช่วยให้ตัวละครเหล่านี้มีมิติความเป็นมนุษย์ขึ้นมา ทําให้ชาวบ้าน กรรมกร หรือแม้แต่เมล็ดข้าว เหล่านี้มีความหลัง มีความปรารถนาที่หลากหลาย โดยฝังรากอยู่ในวิถีชีวิตความเป็นลาว พาให้นึกถึงกลิ่นหอมเย็นของดอกอินถวา นึกถึงบทสนทนาของชาวบ้านที่ไม่มีการสรุปจบในคราวเดียว นึกถึงเสรีภาพของมนุษย์ ที่จะคิดที่จะฝัน เหมือนอย่างที่ชัชวาลย์ให้สัมภาษณ์ไว้ใน WRITER ฉบับที่ 30 “เลือดอีสาน”​ว่า:

สิ่งที่เราต่อสู้ สิ่งที่เราเขียนเพื่อแสดงออก เพื่ออะไร ใช่ประชาธิปไตยไหม? — ผมไม่ได้คิดถึงคํานี้เลยนะ มนุษย์ยิ่งใหญ่กว่าประชาธิปไตย สมมุติผมเขียนหนังสือไปทีละบท เขียนวิจารณ์เผด็จการรัฐประหาร มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ฝ่ายเสื้อแดง เสื้อเหลือง แต่คือความเป็นมนุษย์ที่เรายังเชื่ออยู่ว่าโลกควรจะเป็นอย่างนี้ ประชาธิปไตยโดยธรรมชาติต้องมีอยู่ ถ้าคุณมาล็อกให้ตาย ตรงนี้แหละคือปัญหาที่จะต้องคุยกัน ..​. ผมจะไม่ไปดิ้นรนตีโพยตีพาย ฟูมฟายกับเรื่องคําว่าประชาธิปไตยกับเผด็จการ แต่มันมีหลักของความเหมาะสมของเสรีภาพมนุษย์อยู่ (83)

ก็จริงอย่างที่เขาว่า ฉันเห็นว่าเสรีภาพมนุษย์ (และการงานของควาย) มีความสําคัญเหนือกว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ถ้าจะมองในแง่นี้ บรรทัดตัวหนังสือเหล่านี้ก็ประสบความสําเร็จงดงาม เหมือนทิวแถวกล้าข้าวที่ชาวนาปักดําด้วยสมองและสองมือ

แต่อีกระดับหนึ่ง เรื่องสั้นเหล่านี้ยังคงแปลกประหลาดอย่างไม่อาจลบได้ ถ้าจะเปรียบเป็นอาหารก็คงเป็นหญ้าเขียวที่จะต้องเคี้ยวเอื้อง กลืนแล้วคายออกมาเคี้ยวใหม่ เพราะภาษาที่ใช้เล่าเรื่องของคนต่างชาติพันธุ์เหล่านี้นั้นเป็นภาษาไทย ภาษาไทยที่เผยร่องรอยปะชุนจากภาษาของลาว จากภาษาของเรา เหมือนเรื่องเล่าในเรื่อง “ในประเทศของเขา” ที่คนเล่าเรื่องผู้หัดอ่าน-เขียนภาษาไทยเล่าว่า

เวลาที่เราพูดคําว่า ʻงัวʻ [วัว] เป็นคําว่า ʻโงʼ พูดคําว่า ʻหัวใจʼ เป็นคําว่า ʻโหเจ๋อʼ ออกเสียงคําว่า ʻหัวเข่าʼ เป็นคําว่า ʻโหโขยʼ เขาจะหัวเราะโยกตัวไปมา ยิ่งเวลาที่แปงถามว่า ʻสิไปไสʼ เขาจะแกล้งทํา หน้าล้อย้อนถาม ʻจะไปไหนʼ พร้อมกับหัวเราะราวกับว่ามันเป็นเรื่องที่ชวนให้สนุกขบขันเสียเต็มประดา (118)

และ

ท่านทั้งหลาย แม้ว่าภาษาในประเทศของเขาที่ว่านี้ ข้าพเจ้าจะเคยได้อ่านได้พูดอยู่บ้าง เมื่อครั้งเป็นเด็กนักเรียนตามกฎหมายกําหนด แต่ว่ามันไม่เข้าหัวเข้าลิ้น ครูนั่นก็เป็นคนในประเทศของเราไม่ใช่จากประเทศของเขา ดังนี้เอง ในหลายปีต่อมา หลังจากข้าพเจ้าได้สิ้นความพยายาม ที่จะรักและซาบซึ้งในภาษาประเทศของเขาแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเพราะมันไม่ใช่คําภาษาที่ออกมาจากสายเลือดและจิตวิญญาณที่แท้ของเรานั่นละ มันเป็นเพียงสําเนียงภาษาภายนอกที่โอบกลืนติดตามผิวเนื้อของเราอยู่อย่างฉาบฉวย เกาะอยู่เหมือนปลิงเหมือนทาก เหลือบสวะ เพียงเพื่อให้เป็นไปตามความมดเท็จ ฝันเฟื่องของบรรดานักชาตินิยมและกฎหมายฉบับล่าสุดเท่านั้นเอง (121)

ฉันอ่านถ้อยคําเหล่านี้ที่ประณามการปลูกถ่ายภาษาไทย แต่กลับถูกคัดลอกมาเป็นภาษาไทยที่สละสลวย (มีกึ่งอรรถาธิบายอย่างคําว่า [วัว] อีกโสดหนึ่ง) ก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนว่าสิ่งที่ฉันกําลังอ่านอยู่นั้นผ่านการคัดกรองมากี่ชั้น และคนเล่าเรื่องนี้จะเล่าให้ฉันฟังเพื่อการใดกัน มีหลายครั้งที่คําที่ดูเป็นอื่นจากภาษาไทยที่ฉันคุ้นเคยผุดโผล่ขึ้นมาในธารอักษร คําอย่าง “แม่หญิงผู้ไท” “เรือนผาป่าดอน” หรือแม้กระทั่ง “เญ็ด” ความสละสลวยที่ซ่อนแฝงไปด้วยความไม่ลงรอยทางภาษา เป็นประหนึ่งว่า ชัชวาลย์ได้แอบย่องเบาเข้าไปงัดแงะกรุเก็บความทรงจําของคนที่รัฐไทยไม่นับรวมเหล่านั้น แล้วถ่ายถอดมันออกมาเป็นภาษาต่างด้าว ไม่ใช่ภาษาของเรา แต่ก็ไม่ใช่ภาษาของเขาเสียทีเดียว

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ที่ทางของวรรณกรรมในภาษาไทยที่เขียนโดยคนลุ่มแม่น้ําโขง แม่น้ําชี แม่น้ํามูล หรือตามหัวเมืองในภาคอีสานของไทย อยู่ตรงไหน? ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์ต่ออีกเกี่ยวกับ “อีสานใหม่” ในปัจจุบันว่า

เรื่องของความเป็นลาว ความเป็นชาติพันธุ์ ไม่ได้ถูกนํามารับใช้ชีวิตเหมือนรุ่นผม ไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตที่เป็นจริง แต่เอามาพูดได้ แปรรูปได้ แปะไว้กับวาทกรรมอื่นๆ ได้ กับชีวิตประจําวันเอามาแปะได้ เช่นตอนนี้เราจะเห็นสติ๊กเกอร์ท้ายรถ ʻดีใจจัง คันหลังก็ลาวʼ แต่ก่อนเอามาพูดไม่ได้ นึกออกไหม ตอนนี่เอามาแปะไว้กับตรงไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ฮีตสิบสองคองสิบสี่ พวกผญา คําคม ศิลปะหมอลํา ถูกเอามารับใช้ยุคใหม่ เอามาแปรรูป นี่คืออีสานใหม่ ปัญหาก็คือถ้ามองในแง่วัฒนธรรมมหาชนกับวิถีชีวิตที่เป็นอีสานใหม่อย่างที่ว่า เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แต่เหมือนเขามีการศึกษา มีการเรียนรู้ ก็ไปหยิบมาทํา แพร่กระจายแล้วไปยึดโยงอยู่กับวัฒนธรรมมวลชน ป๊อปปูลาร์และการตลาด ..​. ​ผมว่าช่วง 20 ปีหลังมานี้ เป็นอีสานใหม่ ยึดโยงอยู่กับการตลาดและการแปรรูปให้เป็นสินค้า เป็นอัตลักษณ์แบบเปลือกนอก (80-81)

คําพูดนี้ทําให้ฉันนึกถึงตัวเอง ที่กําลังใช้ “ควายแดง”​ในฐานะสติ๊กเกอร์ท้ายรถ ที่จะเอามาแปะไว้กับหนังสือเล่มไหนก็ได้ ไม่ได้สนิทเนียนกับวิถีชีวิตของฉันอย่างแท้จริง เป็นอัตลักษณ์แบบเปลือกนอกที่ติดตามเนื้อตัวหนังสือของฉัน ถ้าไม่แปะป้ายไว้ ก็ไม่มีใครสํานึกรู้แม้แต่ตัวฉันเอง เป็นอัตลักษณ์ที่ต้องเพียรพูดซ้ํา เขียนซ้ํา จนกว่ามันจะกลายเป็นเนื้อในของเรา—ต่อไปนี้ควายแดงอย่างฉันที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างควายแดงจริงๆ จะทําอย่างไร?

 red_buffalo_sticker
ครบรอบ ๘ เดือนรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
Standard

แด่ ความตายในเดือนรอมฎอน

อุมมีสาลาม อุมาร, ความตายในเดือนรอมฎอน, 2555

 

ตั้งแต่กองทัพบกประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศเพื่อกำราบและกวาดล้างควายแดงอย่างฉัน ฉันรู้สึกเสมือนเป็นญาติมิตรทางจิตใจกับโลกมุสลิมชายแดนภาคใต้มากขึ้นทุกวันๆ

เป็นเหตุให้ฉันเปิดอ่านไฟล์ “ความตายในเดือนรอมฎอน.pdf” ที่ฉันไปเก็บมาจากเว็บไซต์ Young Thai Artists Award ของ SCG Foundation เมื่อสองเดือนก่อน

อ่านแล้วก็ไม่ผิดหวังเลย และออกจะรู้สึกขอบคุณ ฉันจึงขอเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ เพ่ือเป็นกำลังใจให้ อุมมีสาลาม อุมาร สร้างงานต่อไป

 

รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ถ่ายทอดชีวิตประจำวันของคนหลากหลายในโลกร่วมสมัยของปัตตานี ทั้งคนคุกผู้เข้าร่วมขบวนการปลดแอกจากรัฐไทยใน “ความตายในเดือนรอมฎอน” หญิงสาวที่มารำลึกสิ่งที่ดับสูญหลังจากจากบ้านไปเรียนกรุงเทพหลายปีใน “แพะหลังหัก” โต๊ะอีหม่ามผู้พยายามธำรงวัตรปฏิบัติอันดีงามของชาวมุสลิมในหมู่บ้านใน “พุทราต้นสุดท้าย” หรือชีวิตครอบครัวที่มักมีพ่อเป็นตัวปัญหาแต่ก็ขาดไม่ได้

ฉันอ่านเรื่องเหล่านี้อย่างเพลิดเพลิน รู้สึกสะเทือนใจไปตามตัวละคร อาการแบบนี้จะไม่เกิดกับฉันบ่อยนัก เพราะเป็นคนไม่ค่อยอินกับเรื่องสั้นแนว “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ตามขนบรางวัล แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอุมมีสาลามเขียนได้ดี หรือเป็นฉันเองหัวใจอ่อนไหวมากขึ้นต่อชีวิตธรรมดาๆ ที่มาพบเคราะห์

หรือเป็นหัวใจฉันเองที่เปลี่ยนไป เพราะมันเองกำลังจะพบเคราะห์ พ้อความสาบสูญ

 

เรื่องสั้นเหล่านี้เรียบง่าย แต่ทรงพลังอย่างยิ่ง

อุมมีสาลามถ่ายทอดชีวิตของคนอย่างเป็นมนุษย์ (เอ…ควายแดงอย่างฉันหรือจะรู้ว่า “เป็นมนุษย์” นี่จริงๆ แล้วมันคืออะไร) พูดอีกแบบก็แล้วกันว่า ตัวละครทั้งหลายดูมีความทรงจำ มีเลือดเนื้อ มีความอ่อนไหว และพวกเขาก็ถูกเล่าออกมาอย่างนั้น ปล่อยให้คนอ่านรู้จักหัวจิตหัวใจของเขาเอง

เพราะตัวละครอย่างพ่อที่ไร้เหตุผลในเรื่อง “ย่า” และนักลอบสังหารในเรื่อง “ความตายในเดือนรอมฎอน” ยังถูกเล่าอย่างมีความทรงจำ มีเลือดเนื้อ มีความอ่อนไหว รวมเรื่องสั้นเล่มนี้จึงทรงพลัง (ฉันอยากพูดว่าทรงพลังมนุษยภาพ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า “มนุษยภาพ” มันมีพลังอะไรยังไง) ชอนไชไปในภาพตายตัวที่เราอาจมีต่อ “พ่อ” “ผู้ก่อการร้าย” “คนเคร่งศาสนา” ให้ภาพตายตัวเหล่านั้นโลดแล่น จนสลัดหลุดไม่ตายตัวอีกต่อไป…

และที่ทรงพลังที่สุด เห็นจะเป็นการทำให้ “ความสาบสูญ” มีเลือดเนื้อตัวตนขึ้นมา อย่างเจ้าอาวาสและแพะที่ตายไปแล้วใน “แพะหลังหัก” แต่ยังโลดแล่นอยู่ในความทรงจำ

 

+ + +

 

จริงอยู่ที่ฉันอ่าน ความตายในเดือนรอมฎอน เพราะชีวิตอมทุกข์ภายใต้กฎอัยการศึก แต่เมื่ออ่านไปๆ พบว่าเรื่องการเขียนและการเล่าเรื่องกลับโดดเด่นขึ้นมา โดยเฉพาะในครึ่งหลังของเล่ม ความไม่สงบในชายแดนใต้เริ่มเลือนหายไปจากฉากหลักของงานเขียน ในขณะที่ความเป็นประดิษฐกรรม เป็นเรื่องเล่าของมันเริ่มฉายชัด โดยเฉพาะในเรื่อง “นิทานของพ่อ” และ “นักสร้างเรื่อง” ซึ่งการเล่าเรื่องกลายเป็นตัวสำคัญยิ่งกว่าตัวละครที่เล่า

มีบรรทัดหนึ่งในเรื่อง “นักสร้างเรื่อง” ที่ตัวเอกของเรื่องพยายามเขียนเรื่องสั้นส่งประกวด ด้วยการลองอ่านรวมเรื่องสั้นที่ได้รางวัล Young Thai Artists Award รุ่นแรกๆ แต่ปรากฏว่าเขาอ่านไม่เข้าใจเลย:

เขาได้มันมาเพียงสองเล่ม เล่มหนึ่งเป็นเรื่องสั้น อีกเล่มเป็นนวนิยาย เปิดอ่านดูคร่าวๆ อย่างไม่ตั้งใจนัก แล้วพยายามจับกลวิธีการเขียนของนักเขียนหนุ่มที่เขียนเรื่องสั้น “วรรณกรรมตกสระ” แต่มันช่างดูโง่เขลาเหลือเกิน เขาไม่รู้เลยว่าเรื่องนี้มีแก่นเรื่องว่าอย่างไร
เขาตีความไม่ออก…
พลิกหน้าต่อไป อย่างน้อยอาจจะเจอเรื่องที่อ่านง่ายกว่าเรื่องแรกสักนิด แต่ก็เหมือนเดิม เขาไม่สามารถตีความเรื่องสั้นของนักเขียนหนุ่มคนนั้นได้ แล้วเขาจะลงมือเขียนเรื่องสั้นได้อย่างไร (๕๒)

นึกจะหัดเขียน “โครงเรื่อง” ก็ทำไม่เป็น จนในที่สุดก็ล้มเลิกจะเอาแรงดาลใจจากหนังสือรางวัล หันไปหยิบ “เรื่องสั้นที่ดีที่สุดของนักเขียนที่ดีที่สุดซึ่งเขาเคยอ่าน” มาวางตรงหน้า แล้วลงมือเขียนโดยอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่องกลวิธีและโครงเรื่อง

ในฐานะที่เป็นคนที่อยากเขียนหนังสือ แล้วมีปัญหาในการโครงเรื่องเหมือนกับตัวละครนักเขียนในเรื่องนี้ ฉันได้ตระหนักจากการอ่านว่า เรื่องที่เราชอบอ่านและเห็นว่าดี ย่อมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และนั่นก็ส่งผลให้เราเขียนเรื่องหนึ่งในแบบหนึ่งๆ ส่งผลให้เราสามารถเขียนเรื่องนั้นได้

จากที่ฉันเคยพิศวงหลงใหลไปกับ “วรรณกรรมตกสระ” ของภาณุ ตรัยเวช วันนี้ฉันกลับพบว่า ความเรียบง่ายไม่หวือหวาของ “ความตายในเดือนรอมฎอน” สอดคล้องกับสภาพชีวิตของฉันตอนนี้มาก เหมือนการได้อ่านเรื่องเล่าของชีวิตเหล่านั้น เติมพลังให้ฉันอย่างประหลาด

และมันก็คงจะส่งผลให้ฉันสามารถเขียนเรื่องที่ฉันต้องการเขียนได้ สักวันหนึ่ง.

 

วันที่ 27 ในอุโมงค์ทะมึน
ควายแดงเดียวดาย.

 

 

*แต่ก่อนหนังสือหลายเล่มของนักเขียนรุ่นเยาว์ที่ได้รับรางวัล Young Thai Artists Award มีสัญญาตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ แถมมีศิลปินวาดภาพประกอบงานเขียนเสียเอิกเกริก แต่เดี๋ยวนี้นานมีบุ๊คส์ไม่เอาไปพิมพ์แล้ว หนังสือที่ได้รางวัลสูงสุด ทางมูลนิธิก็ปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรีแบบเงียบๆ บนเว็บไซต์ของมูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย…​ไหนๆ ผู้เขียน pdf นี้ก็ได้เงินรางวัลไปแล้ว ได้อ่านฟรีๆ ก็ดีเหมือนกัน แต่จะมีหนทางอื่นไหมที่นักเขียนรุ่นใหม่ จะได้แลกเปลี่ยนงานกันและกัน โดยไม่ต้องผ่านเวทีประกวดของเอสซีจี โดยไม่ต้องผ่านค่ายอบรมที่สนับสนุนโดยซีพีออลล์?

Standard

การปฏิวัติที่หลงเหลือเพียงความโรแมนติค

ปาหนัน ณ ดอยยาว, ดอกเสี้ยวบาน… ที่ดอยยาว ผาหม่น, ๒๕๔๙ หลายเดือนก่อนรัฐประหาร

Image

หากหลังจากแต่ละคืนที่เราหลับใหล สมองทำให้เราหลงลืมเหตุการณ์ราวๆ 80% ของวันวานแล้ว
การย้อนรำลึกประสบการณ์ชีวิตเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน จะคงเหลือสิ่งใดอยู่?

 

“ปาหนัน ณ ดอยยาว” เขียนรวบรวมความทรงจำเมื่อครั้งไปเข้าร่วมกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) หลังจากเวลาผ่านไปยี่สิบปี
พิมพ์เป็นเล่มขายเนื่องในโอกาส “รำลึก ๓๐ ปี หกตุลา”
แต่ฉันอ่านจนจบแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าเขารำลึกหกตุลาฯ จริงหรือไม่ หรือควายแดงอย่างฉันยังอ่อนต่อโลก เกิดไม่ทันเขา อ่านหนังสือไม่แตกก็ไม่รู้

 

หนังสือบันทึกความทรงจำเล่มนี้ ดูจะมีจุดมุ่งหมายตรงข้ามกับ “บันทึกกบฏ” ของยุค ศรีอาริยะ เขาเขียนเล่าความทรงจำในป่าเพื่อประจานความฟอนเฟะของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งที่ปู้ยี่ปู้ยำศักดิ์ศรีมนุษย์เพศหลากหลาย และการเดินตกเป็นทาสจีนทางอุดมการณ์ (หรือข้อหา “ขายชาติ” ในแบบพันธมิตรเสื้อเหลือง ที่ยุค ศรีอาริยะ คลี่คลายกลายเป็นกระบอกเสียงให้ในยามแก่) “บันทึกกบฏ” เปิดกล่องความทรงจำอย่างมีจุดหมายทางการเมือง ทรงพลัง ขนาดควายแดงอย่างฉันได้เรียนรู้มากมายจากเสื้อเหลืองอย่างเขาผู้เป็น “ควายแดงเดียวดาย” ในป่าคอมมิวนิสต์ยุคนั้น

Image

ตรงกันข้าม บันทึกความทรงจำเมื่อครั้งเป็นนักปฏิวัติของ “ปาหนัน ณ ดอยยาว” เอ่ยถึงความแตกแยกภายในพรรคฯ เพียงฉากหลัง แต่ฉายแสงขับเน้นประสบการณ์อันมีสาระแก่นสาร ซาบซึ้งในการอบรมจัดตั้งของสหาย อิ่มเอิบกับการเติบโต และเรียนรู้โลกทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

ฟังดูเปี่ยมความหมาย แต่ฉันไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์ตอนท้าย ต่างยังไงจากการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทแบบฉาบฉวยของนักศึกษายุคนี้

 

เบ้าหลอมปฏิวัติไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งใด นอกจากตัวตนที่เติบโตขึ้นของตัวเอง
สหายหนันยังแยก “ประชาชน” ออกจาก “นักปฏิวัติ”
ยังแยก “หมอปฏิวัติ” อย่างตัวเธอออกจากความล้าหลังดั้งเดิมของ “หมอผีประจำหมู่บ้านและยาสมุนไพร” ซึ่งเป็น “ความเชื่อของประชาชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” (๖๓)

และเมื่อถึงเวลาแตกพ่าย สหายม้งก็กลับไปอยู่กลับครอบครัวในภูเขา ส่วนเธอกลับมาอยู่พื้นราบ

เมื่อรถพาเธอกลับออกจากป่า แล่นไกลออกไป… บรรทัดสุดท้ายของหนังสือเขียนไว้ว่า
“ทุกสิ่ง…ตก อยู่ในความมืดมิด” (๑๐๓)
ออกจะถ่ายทอดความว่างเปล่าของประสบการณ์ได้แยบยล

เมื่อการปฏิวัติว่างเปล่า ความทรงจำแห่งการปฏิวัติจึงเสื่อมสภาพเหลือเพียงความโรแมนติคของมิตรภาพและการเติบโต

 

ตรงกันข้ามกับ “บันทึกกบฏ” ที่อ่านแล้วเห็นชัดถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองในยุคสมัยนั้น

อ่าน “ดอกเสี้ยวบาน… ที่ดอยยาว ผาหม่น” แล้วรู้สึกราวกับว่าประสบการณ์การเป็นนักปฏิวัติหลัง ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ เป็นสิ่งที่จบสมบูรณ์ ตัดขาดจากสังคมปัจจุบัน หลงเหลือเพียงความครื้นเครงครั้งโจมตีค่ายทหารของรัฐไทย ความอาลัยต่อสหายที่ตายไป และรอยฟกช้ำที่หัวเข่าจากการเดินชนต้นไม้ในป่า

น่าแปลกที่ในหน้าสุดท้าย ปาหนันเขียนว่า “ความขัดแย้งได้มาถึงจุดสุดท้ายแล้ว เป็นการลาจากด้วยมิตรภาพและความอาลัย” ยี่สิบสามสิบปีผ่านมา เธอยังเชื่อหรือไม่ว่าความขัดแย้งนั้นจบลงแล้ว? ความขัดแย้งร่วมสมัยไม่เกี่ยวข้องกับวันเวลาเหล่านั้นแล้ว?

น่าแปลกยิ่งกว่า เมื่อสหายเก่าผู้มาเป็นบรรณาธิการหนังสือ โชติช่วง นาดอน ปิดคำปรารภด้วยคำชื่นชมทักษะการเขียนของสหายหนัน “ผมอ่าน…ชื่นชม ดีใจมากๆ ที่วันนี้คนที่เคยเป็นเด็กหญิงเงียบๆ เรียบๆ สามารถเขียนหนังสือได้อย่างงดงามเช่นนี้”

แปลกจนไม่น่าเชื่อว่าตรวจแก้และตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในต้นปี ๒๕๔๙ ท่ามกลางการประท้วงรัฐบาลทักษิณสมัยที่สอง ที่เป็นชนวนไปสู่การยุบสภา เลือกตั้งแล้วโมฆะ และการรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยาฯ

 

กล่องความทรงจำที่ทะนุถนอมไว้หลายสิบปี แง้มดูอีกครั้ง กลิ่นโรแมนติคลอยฟุ้งตลบอบอวล

กล่องความทรงจำนี้จะมีค่าต่อ “สังคมส่วนรวม” ได้จริงอย่างที่สำนักพิมพ์คาดหวัง ก็ต่อเมื่อมันสามารถส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ คนที่จะสานต่องานรังสรรค์โลกที่ดีกว่า

ฉันเปิดกล่องนี้ ภายใต้บรรยากาศเผด็จการทหารเกือบสี่สิบปีให้หลัง ด้วยหวังว่าจะพบอะไรสักอย่างไว้ปลอบประโลมใจ หวังจะพบจิตวิญญาณบางอย่างในความทรงจำ
ฉันไม่พบอะไรเลย
นอกจากอากาศธาตุอุ่นๆ กรุ่นกลิ่นเย็นๆ ของดอกเสี้ยวบาน.

Standard

ในดินแดนวิชาธรและเรื่องสั้นอื่นๆ ความตายไม่มีความหมาย

อติภพ ภัทรเดชไพศาล,​ ในดินแดนวิชาธรและเรื่องสั้นอื่นๆ, 2557

Image

ความตายอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของการเขียนและการอ่าน
แม้จะมีวรรณกรรมมากแค่ไหนที่ทำให้ความตายเป็นเรื่องดราม่า เป็นเรื่องสะเทือนอารมณ์
แต่ “ความตายก็คือความตายอย่างที่ผมบอกน่ะแหละ มันไม่โรแมนติคหรอก” (๑๑๔)
พิธีรีตองตามมาทีหลัง ความสะเทือนใจอยู่เฉพาะกับคนที่ยังมีชีวิต

 

ในแทบทุกเรื่องสั้นของหนังสือ ในดินแดนวิชาธรและเรื่องสั้นอื่นๆ อติภพประทานความตายให้ตัวละครอย่างไร้ความปรานี แล้วก็ตัดจบเสียเฉยๆ อ่านแล้วอารมณ์ค้าง ไม่พบสารที่ต้องการสื่อ เป็นแอนติไคลแมกซ์ที่ทำให้คนอ่านอย่างฉันตั้งคำถามว่า แล้วไอ้ที่เล่ามาทั้งหมดล่ะ?

งานเขียนของอติภพ จบแล้วเหมือนไม่จบ เหมือนถูกโยนไปอยู่อีกภพ เพื่อที่จะตระหนักในท้ายที่สุดว่าลมหายใจของตัวละครในภพนั้นเป็นเพียงการสร้างตัวตน เป็นการที่คนเขียนสร้างความหมายบางอย่างขึ้นมาให้ตัวละคร เป็นตัวตนที่เปราะบาง ตายเอาได้ง่ายๆ เหมือนชีวิตจริงของคนเรา

ในเมื่อความตายไร้ความหมายเป็นจุดจบของการเขียนเล่าเรื่อง คนอ่านอย่างฉันก็อดไม่ได้ที่จะเติมความหมายลงไปต่อ อย่างนั้นแล้วความตายก็กลายเป็นจุดกำเนิด เหมือนตัวตลกในตอนจบเล่ม ที่กระโจนออกไปจากประตูกระจกห้างสรรพสินค้าที่ไม่มีทางออก เพียงเพื่อจะพบว่า เขาออกไปอยู่ข้างในน้ำคร่ำแห่งครรโภทร

 

ความตายและการล้างแค้นดูเป็นประเด็นที่เรื่องสั้นวนเวียนหมกมุ่นอยู่ไม่ห่าง ความตายทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากต้นจนจบเล่ม ทำให้คนอ่านอย่างฉันตระหนักว่า ถ้าฉันริจะอ่านเรื่องพวกนี้ให้ถึงที่สุด ฉันต้องไม่อ่านแค่จุดจบที่เป็นความตาย

ในครึ่งแรก อย่างเรื่อง “เรื่องของบุตรนางอสัตนารี” นั้น ชายหนุ่มเพียงจะไปล้างแค้นอำนาจมืดผู้ให้กำเนิดเขาอย่างอาภัพ แล้วกลับถูกยักษ์เด็ดหัวดื่มกินเลือดสดๆ หรือเรื่อง “อนุสาวรีย์ดวงตะวัน” ตัวละครขบถถูกจุดไฟจนลุกไหม้ดับสูญไปไม่ทิ้งร่องรอย และอีกตัวละครกลายเป็นแผ่นดินที่ไร้ความหมาย หรือเรื่อง “เทวาสุรสงคราม” ที่การฆ่าล้างแค้นของคนเล่าเรื่องหลอมรวมกับการวางเพลิงสลัมของตัวละครที่ผู้เล่าเรื่องประพันธ์ขึ้นอีกต่อหนึ่ง หลอมรวมกันจนแยกไม่ออก ถ้อยคำสับสนจนหมดนัยที่จะสื่อสาร

จนครึ่งหลังของหนังสือ ความตายเริ่มคลี่คลายไปเป็นอย่างอื่น อย่างในเรื่อง “อรพิมพ์เทวีชาดก” ที่การชุบชีวิตคนก่อให้เกิดการสร้างความหมายใหม่ ตัวตนใหม่ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด “ในกระแสเหตุปัจจัย” ที่ความตายของตัวละครอาจนำไปสู่อิสรภาพของเขาจากพระเจ้าผู้เขียน และอิสรภาพนี้มันถูกยื่นมาให้ผู้อ่าน

 

เพราะอย่างนั้นเอง การตัดบทตัวละครโดยนักเขียนผู้เป็นพระเจ้าในเรื่อง “ในโลกวิชาธร” อาจเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าตัวละครนั้นลง เพื่อมอบอิสรภาพให้คนอ่าน นักเขียนผู้เป็นพระเจ้าตัดบทเขากลางคัน แล้วเขียนเกทับเรื่องที่เขาเล่า รื้อถอนตัวตนของเขา ฉีกความหมายที่สร้างมาตั้งสิบหน้ากระดาษลงไม่มีชิ้นดี กระชากคนอ่านอย่างฉันออกจากความเมามายเสียงเล่าในโลกวิชาธร แล้วปล่อยฉันกลับลงในโลกความจริง

 

มิติความเหนือจริงที่อุดมอยู่ในหลายเรื่องที่เขียนด้วยสำนวนภาษาย้อนยุค จนเสมือนว่าเรื่องราวเหล่านั้นเกิดในจักรวาลคู่ขนานที่กาลเวลาเหลื่อมซ้อน ไม่ได้ทำให้คนอ่านอย่างฉันหลุดลอยไปจากโลกความจริง ตรงกันข้าม มิติความเหนือจริงอาจทำให้เราเข้าใกล้โลกความจริง เช่นเดียวกันกับความตายทำให้เราเข้าใกล้ชีวิตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ปกติฉันจะทนไม่ค่อยได้เวลานักเขียนยัดเยียดความคิดอุดมการใส่ปากตัวละคร แต่ในหนังสือเล่มนี้ แปลกที่ฉันกลับเพลิดเพลินไปกับคำพร่ำบ่นจากปากตัวละคร อิ่มเอมไปกับความหมายที่เสียงเล่าพรั่งพรูออกมา อาจเป็นเพราะฉันรู้มั้งว่า เดี๋ยวมันก็ตายกลายเป็นซากศพในไม่ช้า!

 

ในฐานะที่รักหนังสือที่ทำให้การคิดถึงความตายเป็นเรื่องโรแมนติค อย่างคุณนายดัลโลเวย์ ของเวอจีเนีย วูฟ แล้ว ฉันแปลกใจที่ต้องสารภาพว่า อ่านรวมเรื่องสั้นของอติภพ แล้วฉันรู้สึกทึ่งที่มันทำให้ฉันทั้งได้ส่องสำรวจจนสร่างความเมามายในเสียงเล่า และทำให้ฉันยังคงดื่มด่ำไปกับตัวละครได้ เว่อร์ไปไหมถ้าฉันจะบอกว่า อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วฉันรู้สึกปลาบปลื้มที่ยังมีชีวิตอยู่.

 

วันที่ 19 ในอุโมงค์ทะมึน

ป.ล. ประโยคโปรดในหนังสือเล่มนี้คือ “แต่เขากลับเรื่องมากกว่าที่คิด แข็งกร้าวเกินกว่าที่ควรจะมีชีวิตอยู่บนโลก สิ่งมีชีวิตที่แข็งกร้าวน่ะล้วนแล้วแต่อยู่ใกล้ชิดกับความตายทั้งนั้นแหละ”​(๖๐)

Standard

ชีวิตปกติภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

Antonio Tabucchi, SOSTIENE PEREIRA, 1993
อันตอนีโอ ตาบุคคี, คำยืนยันของเปเรย์รา, นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ แปล

Image

คำแนะนำ: หนังสือเล่มนี้เหมาะแก่การอ่านประกอบชีวิตปกติภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

เราคุยกันและผมเห็นด้วยกับธนาพลว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ เราไม่ควรเรียกร้องอะไรจากใครว่าเขาทำมากทำน้อย เพราะทุกคนต่างมีบริบทของตนเอง เราควรเคารพการตัดสินใจตามเงื่อนไขหรือบริบทของแต่ละคน เช่น ใครจะตัดสินใจรายงานตัว หลบหนี หรือสู้ ก็เป็นสิทธิของเขา เราควรเคารพและให้กำลังใจกัน

—สุรพศ ทวีศักดิ์, ชี้แจงกรณีถูกพาดพิงในบทความของประวิตร โรจนพฤกษ์

ด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินทุกวันนี้ ทำให้ฉันตั้งใจกลับมาอ่านวรรณกรรมอย่างจริงจัง
เพิ่งอ่าน “คำยืนยันของเปเรย์รา” จบอย่างรวดเร็ว (ใช้เวลาไม่กี่วัน ฉันอ่านหนังสือช้า)
บนปกหนังสือโปรยคำไว้ว่า “เรื่องราวของนักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่ลุกขึ้นมาปกป้องอิสรภาพของชีวิตมนุษย์”
เป็นคำโปรยที่ไม่ค่อยจะตรงกับประสบการณ์การอ่านของฉันเท่าไหร่
เพราะสำหรับฉัน หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของคนผู้ดูเหมือนว่าใช้ชีวิตปกติภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ต่างคนก็ต่างตัดสินใจตามเงื่อนไขหรือบริบทของแต่ละคน อย่างที่ธนาพลว่าไว้เกี่ยวกับการเรียกตัวและจับกุมคนที่ประเทศไทย ภายใต้ระบอบที่บอกให้เราใช้ชีวิตตามปกติ ณ ขณะนี้

เรื่องเกิดในโปรตุเกส ช่วงปลายสงครามกลางเมืองสเปน และช่วงโหมโรงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง โปรตุเกสตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการซาลาซ่าร์ เป็นพันธมิตรกับนายพลฟรังโก้ และนาซีเยอรมนี เล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันของเปเรย์รา นักแปลและนักหนังสือพิมพ์ ผู้เชื่อว่าวรรณคดีคือสิ่งทรงคุณค่าที่สุดของโลก เราไม่ควรเอาตัวไปยุ่งเรื่องการเมือง แต่แล้วเหตุการณ์ (คำของฟรอยด์) ที่เขาได้พบกับหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ได้พาให้เขาตั้งคำถามต่อชีวิตของตัวเอง

แต่ลักษณาการตั้งคำถาม เขาไม่ได้ตั้งอย่างนักปรัชญา ที่มาขบคิดวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงภายใน พรรณนาเป็นคุ้งเป็นแคว ตรงกันข้าม เขาแค่รู้สึกต่างไป แค่รู้สึกไม่เข้าใจตัวเองว่าทำไมถึงตัดสินใจเอาตัวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหนุ่มสาวผู้อุทิศตนให้กับการต่อสู้ทางการเมือง การตั้งคำถามเหมือนการหายใจเข้าออก มันเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตประจำวัน ทำอยู่โดยไม่รู้สึก แต่ก็ว่ายเวียนและหล่อเลี้ยงเขาอยู่เงียบๆ

ประเด็นนี้เองที่ฉันเห็นว่านวนิยายเรื่องนี้ถ่ายทอดได้อย่างวิเศษ​มันทำให้ฉันเกิดความหวัง หากแต่ไม่ใช่ความหวังลมๆ แล้งๆ ประเภท “ประชาชนจักชนะ เผด็จการจักพ่ายแพ้” แต่เป็นความหวังที่ว่า ในเงื่อนไขข้อจำกัดของแต่ละคนนั้น เป็นไปได้อยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน เขาจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง “ชีวิตปกติ” ของตัวเอง ไปสู่ความยุติธรรม

ฉันมีความหวังว่า สักวัน ควายแดงอย่างฉันจะไม่เดียวดายอีกต่อไป

* * *

ในหนังสือเล่มนี้ มีคนอย่างคุณหมอคาร์โดโส “นายแพทย์นักปรัชญา” เรียนจบจากฝรั่งเศส
เมื่อเขาบอกแก่เปเรย์ราว่าเขาจะออกจากประเทศโปรตุเกส เปเรย์ราทักท้วงว่าอย่าไปเลย ประชาชนต้องการคนอย่างเขา คุณหมอตอบว่า
“ไม่จริงหรอกครับ บ้านนี้เมืองนี้ไม่ได้ต้องการคนอย่างผมครับ, ด๊อกเตอร์คาร์โดโสตอบ, หรืออย่างน้อยผมก็ไม่ต้องการบ้านนี้เมืองนี้ คิดว่าไปอยู่ฝรั่งเศสดีกว่าครับ ก่อนที่ความหายนะจะมาเยือน” (๑๕๐)

มีคนอย่างมาร์ตา ผู้ศรัทธาต่อความยุติธรรมอย่างเปิดเผย “ต้องแยกให้ออกนะคะระหว่างความบ้าคลั่งและความศรัทธา, เพราะคนเรามีอุดมคติได้ เช่นว่ามนุษย์เรามีเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ”​(๓๔)

มีคนอย่างซิลวา อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เป็นเพื่อนของเปเรย์รา ผู้เชื่อว่าโปรตุเกสไม่เหมาะกับประชาธิปไตยแบบแองโกลแซ็กซอน “คุณยังเชื่อในความคิดเห็นของมวลชนอยู่อีกหรือ ความคิดเห็นของมวลชนนั่นมันเป็นกลลวงที่พวกแองโกล-แซ็กซอนคิดขึ้น ก็พวกอังกฤษและอเมริกานั่นแหละที่กำลังเอาขี้ปาหน้าพวกเราอยู่” (๖๕-๖๖)

มีคนอย่างบริกรเสิร์ฟอาหาร ผู้ดำเนินชีวิตปกติ แต่ฟังข่าวสงครามจากเพื่อนผู้ฟังวิทยุจากลอนดอนทุกวัน บริกรบรรยายสถานการณ์ต่อเปเรย์ราซ้ำๆ ว่า “เรื่องป่าเถื่อน”

…แต่ในหนังสือเล่มนี้ ก็มีคนอย่างพ่อค้าเนื้อชาวยิว ผู้ที่ชีวิตของเขาไม่ถูกเล่า และเขาเป็นคนแรกที่ถูกรังแก กระจกหน้าร้านแตก วันรุ่งขึ้นเขาทาสีขาวปิดชื่อร้านของเขา และลับหายไปจากชีวิตปกติของคนอื่น

เช่นเดียวกัน

ในสังคมนี้ มีคนผู้ลี้ภัยไปต่อสู้เพราะซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ของตัวเอง

มีปัญญาชนที่เชื่อว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมจะมีประชาธิปไตย อย่าไปตามก้นฝรั่ง

มีคนธรรมดาที่เห็นดีเห็นงามกับเผด็จการทหาร เพียงเพราะรู้สึกว่าชีวิตสงบและสบาย

มีคนอีกมากมายที่ดำเนินชีวิตปกติ ทว่าเงี่ยหูฟังอย่างเศร้าสลดหรือคับแค้นใจ

…แต่ก็มีคนอย่าง “มนุษย์ป้า” ที่ออกมาท้าทายและต่อต้านเผด็จการอย่างเด็ดเดี่ยว คนที่ถูกจับตัวไป ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบอุ้มหายขึ้นรถแท็กซี่ไป กระชากกลับมาได้เพียงชื่อและอายุ คนที่ถูกซ้อมเพื่อรีดข่าวจนตายในค่ายทหารในภาคเหนือ ลับหายไปจากชีวิตปกติของพวกเรา ของพวกเราที่คอยเฝ้าติดตามว่าปัญญาชนผู้มีชื่อเสียงและมีใบหน้าจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อใด.

5 มิถุนายน 2557 — วันที่ 15 ของอุโมงค์มืด
ควายแดงเดียวดาย

Standard

ประจักษ์พยานเดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง

แดนอรัญ แสงทอง, เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง, ๒๕๕๕

เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง

เมื่อตอนฉันยังเด็ก สมัยที่ยังนอนแช่น้ำเย็นชำระตัวได้คราวละเป็นชั่วโมงๆ นั้น เวลาฉันบ่นเรื่องอะไรก็ตาม แม่มักสอนฉันว่า มีคนอีกมากมายในโลกที่ลำบากยากเข็ญกว่าเรา ความทุกข์ของเศรษฐีที่ปวดฟัน หรือจะเทียบได้กับความยากแค้นแสนเข็ญของยาจกข้างถนนผู้ที่ชีวิตนี้ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากลมหายใจกับกระสอบสีตุ่น

ฉันไม่เคยซาบซึ้งในคำสอนนี้เลย ก็ฉันจะซาบซึ้งได้อย่างไร ในเมื่อฉันใช้ชีวิตวัยเยาว์อย่างสุขุมาลชาติ

แต่แม่ฉันก็ยังคงสอนอย่างนี้อยู่ร่ำไป บางทีก็ร้องเพลงเก่าครึเพลงนั้นที่มีท่อนฮุกว่า
“หัน…มา ทางนี้!
มี…ผู้ ยากไร้
เขาเหงายิ่งกว่า
ลึกคว้างกว้างไกล
มีมากมีมาย
ใต้ฟ้ามัวหม่น…”

ชีวิตวัยเด็กของแม่ยากจน ต้องทำงานไปเรียนไป เป็นชีวิตที่ฉันเองจินตนาการไม่ถึง
เช่นเดียวกับชีวิตของนางปฏาจารา และตัวละครสมัยพุทธกาลทั้งหลาย…

ฉันจำได้หรอก เรื่องราวของนางปฏาจารา ลูกเศรษฐีผู้หนีไปสร้างรังรักยากไร้กับคนใช้ในบ้าน อยู่มาวันหนึ่งผัวนางถูกงูกัดตาย ลูกชายคนหนึ่งถูกเหยี่ยวคาบไป อีกคนพลัดตกแม่น้ำจมลับหาย นางกลับมาถึงคฤหาสน์ของครอบครัวก็พบว่าเมื่อคืนก่อนที่บ้านฟ้าผ่าไฟไหม้ บิดามารดรนางตายโหงลงสิ้น นางเสียสติวิปลาสผ้าผ่อนไม่อยู่กับเนื้อตัว ซมซานไปจนถึงวิหารขององค์ศาสดา และในที่นั้น นางก็ฟังธรรมเทศนาที่พานางหลุดพ้นเป็นพระโสดาบัน…

ฉันจำได้ ภาพบนจอโทรทัศน์ของวัด ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสตรีนางนี้ในรูปแบบการ์ตูน ฉันจำได้ แต่ฉันก็ไม่ได้ซาบซึ้ง ก็ชาตินี้ฉันยังไม่เคยเป็นแม่ที่เสียผัวเสียลูกเสียบ้านไปนี่

วันนี้ฉันได้อ่านนวนิยาย “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” ของแดนอรัญ แสงทอง
เรื่องราวของพระกีสาโคตมี ภิกษุณีผู้มีพระนางปาฏาจารีเป็นอุปัชฌาย์
ก่อนที่นางจะลาโลกมนุษย์ นางได้เล่าเรื่องชีวิตของนางก่อนที่จะได้มาออกบวชให้นางภิกษุณีในกุฎีได้ฟัง
แดนอรัญถ่ายทอดเรื่องราวและเสียงเล่าของนางกีสาออกมาได้อย่างตราตรึงใจ
นี่คงจะเป็นหนังสือของแดนอรัญที่ฉันชอบมากที่สุด

มันคงเป็นเรื่องง่ายเหลือเกินถ้าจะสรุปเรื่องเล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟังในหนึ่งประโยค ไม่ยากเลย
เพียงแค่ที่นางกีสาโคตมีประกาศในหน้ารองสุดท้ายว่า “ชะตากรรมอันร้ายกาจของดิฉันนั้น เทียบกับชะตากรรมของพระแม่ปฏาจาราแล้ว ก็เป็นเพียงแค่ทรายเม็ดหนึ่งบนหาดทรายเท่านั้น” (105) ก็สรุปเรื่องราวทั้งหมดได้แล้ว

หากคนที่จะพูดเช่นนี้ได้ ก็จักต้องผ่านความทุกข์ทนสาหัสมาก่อนเท่านั้น

มีแต่ผึ้งเท่านั้นที่จะล่วงรู้ลึกซึ้งถึงสุคนธรสแห่งดอกไม้งาม เธอต้องเป็นผึ้งเสียก่อน เธอจึงจะตอบตนเองได้ว่า ‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง’ นี้ เป็นสุคนธรสแห่งดอกไม้งามหรือไม่ หรือเป็นอย่างอื่น
—แดนอรัญ​แสงทอง,​คำตาม,​เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง

นางกีสาโคตมีเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญต่อสัจธรรมที่ว่า “มีแต่ผึ้งเท่านั้นจะล่วงรู้ลึกซึ้งถึงสุคนธรสแห่งดอกไม้งาม”

ก่อนที่นางจะยังไม่เสียลูกชาย ยังเป็นเมียทาสในเรือนเศรษฐีนั้น ทุกเช้านางจะเอาอาหารไปถวายบิณฑบาตแก่พระนางปฏาจารา และทุกเช้าเช่นกันที่พระนางจะมองนางด้วยดวงตาเยือกเย็นเห็นทะลุถึงชะตากรรมของนาง และบอกแก่นางว่า “การได้พบกับสิ่งที่ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เป็นทุกข์ การต้องพลัดพรากจากสิ่งที่น่ารักใคร่ น่าพอใจ ก็เป็นทุกข์”

หากนางกีสาไม่เคยซาบซึ้งถึงสัจธรรมนี้เลย จนกระทั่งนางได้สูญเสียลูกชายสุดรักของนางไป

และหนทางเดียวที่นางจะได้สติกลับคืนมา ก็หาใช่ด้วยคำเทศนาของเจ้าลัทธิจอมศากยวงศ์ที่ทิ้งนางพิมพาไปออกบวช หากเป็นคำบัญชาของพระองค์ให้นางไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากหมู่บ้านที่ไม่เคยมีคนตายมาให้ พระองค์จึงจะสามารถรักษาพิษงูให้ลูกชายฟื้นคืนชีพมาได้

การออกไปสืบเสาะหาหมู่บ้านที่ไม่มีคนตายทั่วทีปทั่วแดนนั้นเอง การที่หาเท่าไรก็หาไม่พบนั้นเอง ที่ทำให้นางได้มีสติไตร่ตรอง

+ + +

มันเป็นการง่ายเหลือเกิน ที่ผู้อ่านจะอ่านข้ามๆ ที่ผู้ฟังเทศน์จะฟังผ่านๆ ที่นักเขียนนักเทศน์จะเล่าส่งๆ ถึงเรื่องราวสมัยพุทธกาลเหล่านี้ แล้วฉกฉวยเอาบทเรียน เอาสัจธรรม กลับไปประดับเป็นคุณธรรมประจำใจ เราจะต้องต่อต้านการอ่านแบบมักง่ายเช่นนี้ การอ่านที่โซเรน เคียร์คีกอร์ด นักปรัชญาชาวสวีดิช เรียกว่า “ขายคำเทศนาราคาถูก” ของอับราฮัมแห่งคัมภีร์ไบเบิ้ล ผู้ได้รับคำบัญชาจากพระเจ้าให้ไปสังเวยลูกชายสุดรักบนยอดเขาห่างไกล และในวินาทีที่เขากำลังจะปักมีดลงบนอกลูกชายนั้นเอง พระเจ้าก็ได้เข้ามาหยุดยั้งไว้ พร้อมบอกว่าอับราฮัมมีศรัทธาต่อพระเจ้ายวดยิ่งควรยกย่องสรรเสริญ

เคียร์คีกอร์ดเตือนให้เราสังวรอยู่เสมอว่าแก่นของเรื่องนี้ไม่ใช่ความเมตตาใหญ่หลวงของพระเจ้าที่ต้องการพิสูจน์ศรัทธาของอับราฮัม แก่นของเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าอับราฮัมเป็นบุคคลตัวอย่าง เคียร์คีกอร์ดบอกว่าเราไม่อาจทำความเข้าใจอับราฮัมได้ เป็นการลดทอนอับราฮัมอย่างใหญ่หลวงถ้าเราไม่พูดถึงความทุกข์ทรมานแสนสาหัสในจิตใจตลอดการเดินทางสามวันสามคืนจากบ้านถึงยอดเขา โดยมีเป้าหมายคือสังหารลูกของตัวเอง ศรัทธาที่แท้คือการกระโดดข้ามพ้นไปจากระบบจริยธรรมทั้งมวล กระโดดไปประจันกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย

แดนอรัญทำหน้าที่ถ่ายทอดความทุกข์ทรมานนั้นได้อย่างหมดจด เขาสามารถเล่าเรื่องที่เล่าให้ตายยังไงก็ไม่เข้าถึงใจหากไม่เคยประสบเองให้มีเลือดมีเนื้อขึ้นมาได้ นี่ไม่ใช่แค่บทพรรณนาความทุกข์โศกของแม่ผู้รักลูกแบบกัณฑ์มัทรีของพระเวสสันดร (ซึ่งมักถูกอ่านอยากมักง่ายในหลักสูตรม.ปลาย) นี่ไม่ใช่แค่คำเทศนาราคาถูกที่เพียงแค่มี “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” ปิดท้ายหนังสือ

แต่กว่าจะไปถึงคติธรรมสั้นจิ๊ดตัดจบไม่กี่หน้า ผู้อ่านก็ต้องประจักษ์พยานการเสียสติจนเข้าป่าเข้าพงลงห้วยลงหนองของนางกีสากระเซอะกระเซิงสุดจินตนาการ นี่คงเป็นข้ออธิบายได้ว่าทำไมหนังสือเรื่องนี้จึงชื่อ “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” ไม่มีประธานประโยค ไม่มีฮีโร่ที่ชื่อ “กีสาโคตมี” มีแต่ภาวะจิตอันอับจนใต้โชคชะตาหม่นมัว

การเป็นพยานนี้ลึกซึ้งกว่าความสงสาร กว้างขวางกว่าความเห็นอกเห็นใจ ถ้าหากเรื่องราวของนางกีสาอาจเป็นคันฉ่องให้ผู้อ่านอย่างฉันมองเห็นเส้นทางชีวิตตัวเอง เห็นควายแดงเดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง เห็นความทุกข์ทรมานที่ทำให้ฉันเป็นฉัน เห็นความกลัวที่หล่อเลี้ยงความกล้าบ้าบิ่นของฉัน เฉกเช่นเดียวกัน

ในสังคมที่แบ่งชนชั้นวรรณะ เหยียดเพศหญิงจนลูกชายด่าแม่ได้ไม่อายปาก นางกีสาทำให้ฉันเห็นถึงทางเลือกในชีวิตของผู้ถูกกดขี่ ตั้งแต่การเป็นทาสีภริยาผู้ซื่อสัตย์ การเป็นแม่ผู้ทุ่มเทใจไปทำนุบำรุงชีวิต การเป็นอีบ้าหอบศพลูกดั้นด้นตามหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การเป็นสตรีผู้ต่อกรกับโจรผู้ร้ายผู้ต้องการล้างแค้นเศรษฐีผู้ขูดรีด ไปจนการเป็นภิกษุณีผู้เทศนาธรรม นางกีสาล้วนเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ในข้อจำกัดนานาของชีวิต

ประโยคเด็ดที่ดลพุทธิปัญญาที่บังเกิดในใจฉันครั้งสำคัญสุดเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ คงจะเป็นคำของเศรษฐินีแม่ยายของนางกีสา เมื่อนางรู้เข้าว่าลูกสะใภ้ของตนแอบเอาอาหารไปใส่บาตรพระปฏาจาราทุกเช้า เศรษฐินีผู้รู้สาแหรกและประวัติชีวิตนางก็ได้ด่าทอพระปฏาจาราว่า:-

“อีหญิงโง่โฉดเขลาเยี่ยงสัตว์ แทนที่จะแต่งงานกะเสนาบดี กลับไปหลงเสน่ห์อ้ายคนรับใช้ของตน แล้วเกิดอะไรขึ้นเล่า ผัวตาย ลูกสองคนก็ตาย ทรัพย์สินของตระกูลถูกริบเป็นราชบาตร ตกยากขึ้นมาก็กลายเป็นอีชีโล้น แล้วยังมีหน้ามาอุ้มบาตรดินเผามาขอกูกิน” (๒๘)

หากพระอรหันต์ยังถูกปรามาสแบบมีเหตุมีผลได้ขนาดนี้ ควายแดงเดียวดายอย่างฉันจะหวั่นไหวไปไยกับปาก “คนดี” ที่ไม่มีความเป็นคน.

(ฉันจะเขียนต่อไป ให้ควายอย่างฉัน และคนที่พร้อมเข้าใจเท่านั้น
เมื่อถึงที่สุด เราต่างก็เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง
อย่างน้อยที่สุดที่เราทำได้ก็คือเกาะเกี่ยวกันไว้)

Standard

(Moral) Transaction: คนดีมีเงิน

ฉันเคยได้ยินคนบอกว่า “เงินเป็นของกลางๆ ไม่ดีไม่เลว ขึ้นอยู่กับคนใช้ว่าจะใช้อย่างไร”

กลับมานึกถึงคำนี้อีกครั้ง นอกจากจะเห็นว่าเงินเป็นของกลางและของกลางๆ แล้ว ฉันก็สะดุดกับประโยคสร้อยที่บอกว่า “จะดีจะเลว ขึ้นอยู่กับคนใช้” เพราะมันกำหนดไปล่วงหน้าแล้วว่ามีคนที่มีเงินให้ใช้ อยู่ มองแบบนี้ก็ทำให้ฉันตระหนักว่า คนที่มีเงินให้ใช้เนี่ยมีอำนาจนะ กำหนดให้เงินกลายเป็นของดี หรือของเลวก็ได้

ฉันได้เริ่มคิดเรื่องนี้เมื่อหลายเดือนก่อน หลังชมการแสดงอันหนึ่งจบ การแสดงนั้นชื่อ “TRANSACTION (พอ-นิยม)”

1185155_10151630709152572_765453087_n

“การแสดงเต้นร่วมสมัย” แหวกแนวเรื่องนี้เล่นกับผู้ชมเต็มที่ เริ่มด้วยที่นักแสดงมายืนเรียงกลางห้อง ขอโทษขอโพย บอกไม่มีอะไรจะแสดง แล้วจัดการคืนเงินค่าตั๋วใส่ซองให้ผู้ชมทั้งหมด แต่เพราะคณะนักแสดงถังแตก พวกเขาก็เลยสรรหากลเม็ดนู่นนี่ จัดกิจกรรมการแสดงหลากหลายมาล่อเงินในกระเป๋าผู้ชม ตั้งแต่เล่นเกมปาบอลใส่ซอมบี้ เร่ขายลูกอมมะขามศักดิ์สิทธิ์ ไปจนเปลื้องผ้าให้เราเอาเงินไปเหน็บขอบกางเกง

มีคนเขียนวิจารณ์ดีๆ ไปมากแล้ว ฉันจึงจะไม่พูดซ้ำ นอกจากอยากเล่าถึงความรู้สึกอึดอัด และเรื่องที่วนเวียนในหัวหลังจบงาน
ตอนที่การแสดงใกล้จบ นักแสดงทำให้ฉันอึดอัดมาก เพราะเล่นขอเงินจากผู้ชมจนหยดสุดท้าย คนคุมเสียงและภาพออกมาบอกว่า “เราขาดทุนจริงๆ ครับ ช่วยหน่อยนะครับ” ประมาณยี่สิบรอบ จนฉันไม่รู้จะวางตัวอย่างไร

ฉันตระหนักอยู่ตลอดเวลาถึงอำนาจเงินในมือของตัวเอง ฉันเลิกคิดไม่ได้ว่าที่มาดูการแสดงนี้ ฉันก็เป็น “คนให้เงิน” แล้วคนแสดงก็มีหน้าที่ตอบสนองให้เราพอใจ การเน้นย้ำเรื่องเงิน มันทุบทำลาย “ความอิน” หรือ “ความเข้าอกเข้าใจ” ทั้งปวงที่อาจมีได้จากงานศิลปะการแสดง

หลังการแสดงจบ ใจฉันหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับบางฉากใน Transaction ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Moral Transaction ที่คนขอเงินเรียกร้องเอาจากคุณค่าศีลธรรมบางอย่างของเรา อย่างเช่น การให้เงินคนเพื่อไปตามฝันของตัวเอง การให้เงินควาญช้างซื้อกล้วยป้อนช้าง ฉันสะท้อนย้อนคิดว่า ที่ฉันให้เงินไปมากมายกับเรื่องเหล่านี้ เพราะฉันอยากจะใช้เงินในทางที่ “ดี” หรือเปล่า แล้วการให้เงินไปแลกความดี มันมีความหมายอย่างไร

มีความดีไหนด้วยเหรอที่ไม่ได้ผ่านการซื้อขายกันมา

+ + +

เย็นวันหนึ่ง ครอบครัวชนชั้นกลางไปทานข้าวที่ร้านอาหาร แล้วมีแม่ค้าหาบเร่เข้ามาขายในร้าน แม่ค้าแกขายขนมไทยพวกตะโก้ ขนมชั้น อะไรอย่างนั้น ครอบครัวนี้เห็นแล้วก็สงสาร เลยจัดการซื้อตะโก้ไปห้ากล่อง ตั้งใจจะเอาไปใส่บาตรพระวันพรุ่ง แม่ค้าแถมให้อีกกล่องหนึ่ง ครอบครัวนี้รู้สึกแย่ ที่แม่ค้าจะให้อะไรฟรีๆ แบบนั้น เลยจะจ่ายให้ครบจำนวน แต่แม่ค้าตอบกลับว่า ซื้อเยอะ เลยแถมให้

ครอบครัวนั้นกลับบ้านมาเขียนสเตตัสเฟซบุ๊กเล่าถึงเหตุการณ์นี้ พร้อมลงท้ายว่า “ถ้าพ่อค้าแม่ขายทุกระดับมีน้ำใจ เห็นแก่คนอื่นแบบนี้ ประเทศไทยคงดีกว่านี้แน่” แล้วก็จิกกัดนักการเมืองหนึ่งดอก

มีคนไลค์สเตตัสนี้อยู่เป็นร้อย แต่ฉันอ่านแล้วอยากจะอ้วก
คนเล่าเรื่องจ่ายเงินไป ได้ความดีกลับมา (เอาไปใส่บาตรพระ) โดยที่ยังมองแม่ค้าด้วยสายตาว่าเขาต่ำต้อยกว่าเรา ขนมตะโก้อะไรก็ไม่อยากกินหรอก สงสารเฉยๆ เลยซื้อไปทำบุญ
คนเล่าเรื่องกลายเป็นคนดีแล้ว ยังไปกำหนดให้แม่ค้าคนนี้เป็นคนดีได้อีก เทียบกับนักการเมืองที่เป็นคนเลวได้อีกต่อหนึ่ง
ช่างเป็นคนดีขี้สงสาร ใจบุญสุนทารเหลือเกิน รักชาติ รักสังคมเสียอีก

นอกจากจะกำหนดให้เงินเป็นของดีหรือของเลวได้ คนให้เงินยังกำหนดให้ตัวเองเป็นคนดีได้อีกด้วย!

คิดต่อไปอีกขั้น ก็ไม่ยากจะที่เห็นว่า คนที่ไม่มีเงิน คนที่ถูกจ่ายเงิน มีอำนาจน้อยกว่าที่จะกำหนดว่าอะไรดีอะไรเลว บางทีพวกเขาต้องขายตัวเอง (เหมือนนักแสดงที่ขายเนื้อหนังตัวเอง) เพื่อให้ได้เงิน จนพวกเขาถูกกำหนดว่าเป็นคนเลวได้หน้าตาเฉย

ความดีของคนดี กลายเป็นกำไร ขูดรีดมาจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนทางศีลธรรม
คนมีเงิน เลยมีสิทธิเลือกจะเป็นคนดีได้ง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก
คนมีเงิน เลยมีสิทธิจะกำหนดให้คนอื่นเป็นคนเลวได้ง่ายๆ ไม่ต้องคิดเลย

ฉันเบื่อหน่ายกับคำปรามาสที่คนดีเหล่านี้มีต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดง ว่าเป็นพวกที่รับเงินมา ไปดูคลิปนั้นสิๆ แล้วจากนั้นก็ชมตัวเองว่า “นี่เห็นไหมม็อบคนดีผู้มีการศึกษา มาด้วยใจ ไม่ต้องจ้าง บ้านกูรวย”

เมื่อ “เงิน” กลายเป็นขั้วตรงข้ามกับ “ใจ” คนเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่ารับเงินมา ก็เลยไม่มีใจ ไม่มีความเป็นคน กลายเป็นฝูงควายแดงหน้าเงิน

25077-05

ควายแดงรับเงินกำนัล

แต่พูดก็พูดเถอะ ถ้าคนเหล่านั้นวันๆ ต้องทำงาน มาชุมนุมก็เสียรายได้ ต้องมีค่ารถ ค่าอยู่ค่ากิน ควายแดงอย่างฉันก็ไม่เห็นจริงๆ ว่าถ้าเขารับเงินมา เขาจะมาด้วยใจไม่ได้หรือยังไง (อย่างในการแสดง Transaction ถ้าเขาจะได้เงินมาหล่อเลี้ยงคณะมากขึ้นหน่อยจากการเปลื้องผ้า เขาต้องเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า)

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลรักษาการตัดทางเงินม็อบนกหวีด เหล่าคนดีเลยแห่แหนเอาเงินไปให้ลุงกำนันสุเทพ รวมแล้ววันเดียวได้เจ็ดแปดล้าน
ให้แล้วพวกเขาคงรู้สึกอิ่มบุญ ได้ทำความดี แถมยังได้ตอกหน้ารัฐบาลปูของควายแดงอีกว่า พวกฉันมีเงิน พวกแกทำอะไรไม่ได้หรอก ฮ่าๆๆ

“คนดีมีเงิน” เหล่านี้ ไม่ตะขิดตะขวงใจใดๆ ที่จะเอาอำนาจเงินของตัวเองมาแลกกับความดี แล้วไปกำหนดคนอื่นในสังคม (ทั้งที่มีเงินและไม่มีเงิน) ว่าเป็นคนเลว ได้กำไรสองต่อ

tnews_1389089357_1967สุเทพ-เจริญกรุง-เยาวราช-31

คนดีให้เงินกำนัน

ช่างเป็นปรากฏการณ์ที่อะเมซิ่ง ไทยแลนด์

Standard

หลงสเน่ห์ท่านรองฯ มาร์โกส

Gloria Muñoz Ramírez, EZLN: 20 y 10 el fuego y la palabra, 2003/2008

EZLN-bloqueo4

ฉันเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้สึกตื่นเต้น ตื่นเต้นกับกองทัพซาปาติสต้าปลดแอกชาติ (EZLN: Ejército Zapatista de Liberación Nacional – คำว่าซาปาติสต้าเอาแรงบันดาลใจมาจาก เอมีเลียว ซาปาต้า ชาวนาผู้นำการปฏิวัติเม็กซิกันราวร้อยปีก่อนหน้า) กับการต่อสู้อันยาวนาน เกือบสิบปีที่คนพื้นถิ่นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ เริ่มรวมตัวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สะสมกำลังพล จนปรากฏตัวในที่สาธารณะครั้งแรกเมื่อคืนข้ามปี 1994 คนราวพันคนยึดหัวเมืองสำคัญหลายเมืองในรัฐเชียปาสที่เม็กซิโก เพื่อประกาศสงครามกับรัฐที่กดขี่ขูดรีด ไม่เหลือเศษให้แม้แต่ปัจจัยสี่ สู้เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม และประชาธิปไตย

ฉันตื่นเต้นไปกับสโลแกนเปี่ยมความหวัง ที่คนเขียนเพียรคัดมาหลายรอบตลอดเล่ม อย่างวาทะ “เรายังเชื่อมั่นว่าโลกที่ดีกว่าไม่ไกลเกินเอื้อม โลกใบที่โลกอีกมากมายมีที่ทางอยู่ได้ (seguir pensando que un mundo mejor es posible, un mundo que quepan muchos mundos)” หรือ “ผู้ปกครองจักต้องปกครองด้วยการเชื่อฟัง” หรือ “เราพยายามก่อการปฏิวัติที่ทำให้การปฏิวัติแท้จริงเป็นไปได้ขึ้นมา”

ฉันตื่นเต้นกับภูมิปัญญาแห่งนักปฏิวัติ ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชนที่คิดเองได้ทำเองเป็น ผู้แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีนั้นก่อรูปมาจากการปฏิบัติ ฉันตื่นเต้นกับคำยืนยันว่าจากดินมีแต่กลิ่นความหวัง กลิ่นระรื่นแก่ความเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่ได้มาถึง ต่างจากกลิ่นของความกลัวจากฟ้า ที่พากลิ่นน้ำมันฝุ่นควันจากเฮลิคอปเตอร์ทหารที่สอดส่องกราดดูภูปฏิวัติ กลิ่นของความกลัวผีนักรบผู้ล่วงลับแต่กลับมาเดินได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม

ฉันตื่นเต้นกับรายการยาวเหยียดของมวลมหาประชาชนพันธมิตร จากภาคส่วนอื่นของเม็กซิโกและทั่วโลก ตั้งแต่คนพื้นถิ่นกลุ่มที่นอกวงซาปาติสต้า กรรมกร ชาวนา นักเรียนนักศึกษา คนรุ่นใหม่ สตรี แม่บ้าน พนักงานประจำ ครูอาจารย์​ เฟมินิสต์ เกย์ เลสเบี้ยน นักเคลื่อนไหว ปัญญาชน ศิลปิน แรงงานต่างด้าว คนไม่มีทะเบียน ผู้พิการ นักข่าว เอ็นจีโอ — รายการพันธมิตรทำนองนี้จะตบเท้าดาหน้ามาทุกครั้งที่คนเขียนเล่าถึงแคมเปญแต่ละครั้งของขบวนการ

ตื่นเต้นที่ภายในขบวนการมีความเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรมระหว่างเพศ มีแม่ทัพที่เป็นผู้หญิงหลายคนที่มีบทบาทต่อเนื่อง ตื่นเต้นที่พวกเขาต่อสู้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งบู๊ทั้งบุ๋น

แต่ความตื่นเต้นของฉันค่อยๆ จางหายไป ความรู้สึกกังขาและจืดจางผุดขึ้นมาแทนที่

ไม่ได้กังขาในศักยภาพความคิด การต่อสู้ ของประชาชน ควายแดงอย่างฉันไม่เคยสงสัยว่าประชาชนเขาก็เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต  ใครหาว่าโรแมนติกจะเอาเขาขวิดเข้าให้ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนไม่มีที่ติ ก็เพราะมีที่ติน่ะสิมันถึงเรียนรู้ได้เอง

แต่ที่ฉันกังขาคือบทบาทของ “ผู้นำ” ขบวนการ

600x400_1343236322_Marcos

thaksin_shinawatra

(หมายเหตุ: พ่อทักษิณไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับท่านรองฯมาร์โกส พ่อทักษิณไม่ได้เป็นผู้นำขบวนการไหนหรอก แค่สองคนนี้เคยมี “ราศี” มากเหมือนกัน ชูนิ้วคล้ายๆ กัน และชอบส่งสารจากทางไกลไปเปิดในที่ชุมนุมเหมือนกัน – พ่อทักษิณโฟนอิน ส่วนท่านรองฯมาร์โกสอัดเทปส่ง)

ท่านรองผู้บัญชาการมาร์โกสเป็นแค่ท่านรองฯ ก็เพราะท่านรองฯ อยู่ใต้บังคับบัญชาของคณะแม่ทัพนายพลผู้บังคับบัญชาคนพื้นถิ่นอีกต่อหนึ่ง ท่านรองฯ จึงไม่ได้เป็นผู้นำเบ็ดเสร็จ

แต่ก็นะ ด้วยความที่เป็นโฆษกของขบวนการซาปาติสต้า แถมยังเป็นคนวางแผนยุทธศาสตร์ทหารคนสำคัญ​ ท่านรองฯมาร์โกสเลยกลายเป็นใบหน้าของขบวนการไปโดยปริยาย ทั้งในเรื่องเล่าของผู้คน และในภาพสื่อ ที่ท่านรองฯสุดเท่มีผ้าคาดหน้า ดูดไป๊ป์ ขี่ม้า แววตาของท่านรองฯ หรือก็แสนหยาดเยิ้มและเปี่ยมความหวัง ไม่พอแค่นั้น ท่านรองฯยังเป็นนักเขียน นักเล่าเรื่องที่มีชีวิตชีวา มีอารมณ์ขันเสียอีก

การสื่อสารระหว่างขบวนการและโลกภายนอกจึงมีตัวกลางคือท่านรองฯ มาร์โกสเป็นหลัก หลังจากที่ขบวนการซาปาติสต้าเริ่มปรากฏตัวในสื่อสาธารณะในวันปีใหม่ของปี 1994 ขบวนการก็เริ่มเปลี่ยนทิศทาง เพราะปรากฏว่าประชาชนทั่วไปเทหัวใจมาเชียร์ เพียงแต่ขอให้ใช้สันติวิธี ไม่จับอาวุธ นับแต่นั้นมาอีกสิบปี การต่อสู้ของพวกเขาก็ยึดหลักการสื่อสารกับมวลชนภายนอก เน้นการเจรจา รณรงค์อย่างสันติ และการสื่อสารกับภาคประชาสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งอาวุธ ยังคงต่อกรกับทหารของรัฐที่มุ่งแต่จะเอาอิสรภาพคืนไปจากคนพื้นถิ่น

ท่านรองฯ มาร์โกส (และทีมงาน) ชำนาญในเกมสื่อมาก แกสรรหาแคมเปญใหม่ๆ มาให้ตื่นเต้นเสมอ ทั้งจัดประชาพิจารณ์ระดับชาติ ระดับนานาชาติ จัดประชามติ จัดเจรจากับรัฐบาล ส่งตัวแทนคนพื้นถิ่น 5000 คนไปรับฟังความเห็นทั่วประเทศ​ จัดขบวนเดินเวียนรอบเม็กซิโกเพื่อรู้จักประชาชน เขียนแถลงการณ์ปกป้องจุดยืนถืออาวุธแต่ใช้สันติวิธีของซาปาติสต้า เขียนจดหมายสนับสนุนขบวนการปลดปล่อยทั่วโลก เขียนจดหมายวิจารณ์ขบวนการอื่นที่ใช้ความรุนแรง(มากกว่า) เขียนเรื่องเล่าสอนใจลงนิตยสารชื่อดัง ฯลฯ

เพราะความชำนาญนี่แหละ  บวกกับความงี่เง่าของรัฐบาลเม็กซิกัน เป็นผลให้ในช่วงสิบปีแรกของ “สงครามสื่อ” ขบวนการซาปาติสต้าชนะขาดลอย รัฐบาลเม็กซิกันขุดหลุมฝังตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการใช้กำลังปราบขบวนการประชาชน สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ ฯลฯ จนสุดท้ายสังคมทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติเอือมระอา ประชาชนเม็กซิโกสั่งสอนด้วยการเลือกตั้ง เฉดหัวพรรคขวา PRI ที่ครองสภามาเจ็ดสิบปีพ้นตำแหน่ง (แล้วเลือกประธานาธิบดีขวาอ่อนๆ นักธุรกิจโคคาโคล่าขึ้นมาเป็นแทน (อ้าว!))

แม้ท่านรองผู้บัญชาการมาร์โกส ≠ กองทัพซาปาติสต้าปลดแอกชาติ
และแม้ กองทัพซาปาติสต้าปลดแอกชาติ ≠ ชุมชนคนอินเดียพื้นเมืองมากมายที่สนับสนุนหรือเห็นใจขบวนการ  แต่ภาพที่ออกมามันก็เป็นแบบนั้น ในบทสัมภาษณ์ท่านรองฯ มาร์โกสท้ายเล่ม ต่อคำถามที่ว่า มีข้อวิจารณ์ต่อตัวเองอย่างไรบ้าง ท่านรองตอบว่า:

Si pudiera regresar el tiempo, lo que no volveríamos a hacer es permitir y… promover… que se haya sobredimensionado la figura de Marcos. / ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เรื่องที่พวกเราจะเปลี่ยนไม่ทำ คือที่เราปล่อยให้… สนับสนุนให้… ภาพลักษณ์ของมาร์โกสยิ่งใหญ่จนเว่อร์
—Subcomandante Insurgente Marcos, 272

ขนาดท่านรองฯ​ มาร์โกสยังรู้สึกว่าภาพตัวเองเว่อร์เลย…

อย่างที่ เช เกวารา บอก นักปฏิวัติที่ดีอาจจะต้องตายตั้งแต่ยังหนุ่ม (ฉันไม่ค่อยเคยได้ยินคนพูดถึงนักปฏิวัติตอนเป็นสาว) วันเวลารุ่งโรจน์ของท่านรองฯ มาร์โกสผ่านไปนานแล้ว

ภาพแสดงถึงทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า ท่านรองฯ มาร์โกส แท้จริงแล้วเป็นหุ่นเชิดของพรรคฝ่ายขวา และสหรัฐอเมริกา ที่มาฉวยชิงการปฏิวัติที่แท้จริง

ไม่ว่าจะชำนาญการรณรงค์เรื่องต่างๆ ขนาดไหน หลายปีผ่านไป สื่อมวลชนก็ค่อยๆ เลิกเชียร์ท่านรองฯ และขบวนการไปทีละค่ายๆ จนเหลือแค่หยิบมือ จนทุกวันนี้แม้แต่ฝ่ายซ้ายในเม็กซิโกจำนวนมากก็มองท่านรองฯ มาร์โกสเป็นตัวตลกไปเสียแล้ว ไม่งั้นก็มองเป็นคนทรยศไปเลย อย่างที่ไปโจมตีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย Andrés Manuel López Obrador ตอนปี 2006 จนเสียงฝ่ายซ้ายแตก แพ้เลือกตั้งอยู่ไม่ถึงสามแสนคะแนน อีกทั้งท่าทีของขบวนการซาปาติสต้าเองก็ตีตัวออกห่างสถาบันการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เข้าร่วมการเลือกตั้งเมื่อปี 1994 จนบอยค็อต ไปจนถึงเผาคูหาเลือกตั้งเลยเมื่อปี 2003

แม้โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ไม่พยายามขับเน้นความโดดเด่นของท่านรองฯ มาร์โกสในขบวนการจนเกินไป แต่หลังปกก็เจิมไว้ด้วยวาทะของท่านรองฯ​ ว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์สาธารณะของขบวนการซาปาติสต้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด”

แม้ท่านรองฯ จะพูดว่า ให้อ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกระจกชิ้นเล็กๆ ที่ประดับบนไห ที่ผู้อ่านจะพบตัวเองในนั้น – แม้ท่านรองฯ จะพูดว่า ไม่ต้องการที่จะสงวนการเป็นเจ้าของการต่อสู้ของซาปาติสต้า ไม่ได้แนะนำให้ส่งเข้าหรือส่งออกไปที่การต่อสู้ไหน เพราะการต่อสู้ต่อต้านลัทธิทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ซาปาติสต้าคิดขึ้นมา – แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ท่านรองฯ เองนั่นแหละที่ประดิษฐ์มันขึ้นมา ก็ท่านรองฯ เองนั่นแหละที่พูดมันออกมา

และก็ให้สงสัยว่า ทำไมคุณกลอเรีย มุนโญส รามิเรส นักข่าวที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนซาปาติสต้าเจ็ดแปดปี ออกมาได้หนังสือเล่มนี้ออกมา จึงเขียนด้วยท่วงทำนอง “ลิเบอรัล”? ทำไมต้องเน้นเหลือเกินกับความหลากหลายของพันธมิตรลิเบอรัลจากภาคประชาสังคม? และการที่ท่านรองฯ มาร์โกสเชียร์หนังสือเล่มนี้เนี่ย ตกลงตั้งเป้าคนอ่านไว้ว่าจะเป็นใครมากกว่ากัน ระหว่างกระฎุมพีเสรีนิยม “cosmopolitan” ผู้เอื้ออาทรและรังเกียจความรุนแรง หรือควายแดงรุ่นใหม่ผู้ฝันใฝ่ปฏิวัติสังคม?

ไม่ว่าจะอย่างไร ควายแดงอย่างฉันก็ยังหลงสเน่ห์ท่านรองฯ มาร์โกสไม่เสื่อมคลาย
ใครหาว่าฉันโรแมนติกจะเอาเขาขวิดเข้าให้

+ + +

หมายเหตุ ๑: ต่อคำถามที่ว่าท่านรองฯ มาร์โกส ชอบผู้ชายหรือไม่นั้น ท่านได้ตอบไว้อย่างเด็ดดวงว่า: “มาร์โกสเป็นเกย์ในซานฟรานซิสโก เป็นคนดำในแอฟริกาใต้ เป็นคนเอเชียในยุโรป เป็นชิกาโนในซานอีซีโดร เป็นแอนาคิสต์ในสเปน เป็นคนปาเลสไตน์ในอิสราเอล เป็นชนพื้นถิ่นข้างถนนในเมืองซานคริสโตบัล เป็นคนยิวในเยอรมนี . . .” และอีกมากมายเกินจะเอ่ย สรุปสั้นๆ ว่ามาร์โกสเป็นทั้งหมดทั้งมวลที่ก่อความอึดอัดให้แก่อำนาจและแก่สำนึกดีชั่ว . . . ว่าแต่ว่าถ้าท่านรองฯ มาร์โกสมาอยู่ในปลักโคลนควายแดงเดียวดาย ท่านรองมาร์โกสจะเป็นอะไรกันนะ?

หมายเหตุ ๒: ขณะอ่านหนังสือเล่มนี้ไปพลาง ฉันก็นึกเทียบกับการเมืองไทยไปพลาง ทางหนึ่งก็เทียบกลยุทธของรัฐบาลที่ใช้ปราบปรามประชาชนกับศอฉ. ที่ทำกับเสื้อแดง ก็มีอย่างอยู่ๆ ก็บุกรุกหมู่บ้าน เพราะอ้างว่ามีซ่องสุมอาวุธสงคราม (เหมือนวัดปทุมไหม) หรือนักการเมืองออกมาแถลงว่าสถานการณ์ปกติดี มีแค่ผู้ก่อความไม่สงบจำนวนหนึ่ง สร้างความแตกแยก แถมบางคนในนี้ไม่ใช่คนเม็กซิกันด้วยนะ (“คนไทยรึเปล่า???”) อีกทางหนึ่งก็เทียบการต่อสู้ของ EZLN กับขบวนการภาคประชาชนของไทย เทียบไปเทียบมาควายแดงอย่างฉันก็เริ่มงง คือกองกำลังซาปาติสต้ามันสู้เพื่อประชาชนคนยากไร้ก็จริง แต่บางช่วงมันเรียกร้องคล้ายๆ กปปส. อยู่นะ คือมุ่งโจมตีไปที่ “ชนชั้นนักการเมือง” ที่ไว้ใจไม่ได้ ตอนนึงก็คล้ายๆ จะขอให้มี “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” บางทีก็ไม่เอาเลือกตั้งเผาคูหาไปเลย บอกว่าพรรคซ้ายทรยศประชาชน ที่ไปเกี๊ยะเซี้ยะกับพรรคอื่นไม่ยอมปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิเสรีภาพกับคนพื้นถิ่น คนยากคนจนอย่างที่ได้ตกลงไว้ ฯลฯ เทียบไปเทียบมาเลยเลิกเทียบเลย เพราะมันไม่เหมือนกัน!

Standard