Gloria Muñoz Ramírez, EZLN: 20 y 10 el fuego y la palabra, 2003/2008
ฉันเริ่มอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้สึกตื่นเต้น ตื่นเต้นกับกองทัพซาปาติสต้าปลดแอกชาติ (EZLN: Ejército Zapatista de Liberación Nacional – คำว่าซาปาติสต้าเอาแรงบันดาลใจมาจาก เอมีเลียว ซาปาต้า ชาวนาผู้นำการปฏิวัติเม็กซิกันราวร้อยปีก่อนหน้า) กับการต่อสู้อันยาวนาน เกือบสิบปีที่คนพื้นถิ่นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียพื้นเมืองกลุ่มต่างๆ เริ่มรวมตัวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สะสมกำลังพล จนปรากฏตัวในที่สาธารณะครั้งแรกเมื่อคืนข้ามปี 1994 คนราวพันคนยึดหัวเมืองสำคัญหลายเมืองในรัฐเชียปาสที่เม็กซิโก เพื่อประกาศสงครามกับรัฐที่กดขี่ขูดรีด ไม่เหลือเศษให้แม้แต่ปัจจัยสี่ สู้เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม และประชาธิปไตย
ฉันตื่นเต้นไปกับสโลแกนเปี่ยมความหวัง ที่คนเขียนเพียรคัดมาหลายรอบตลอดเล่ม อย่างวาทะ “เรายังเชื่อมั่นว่าโลกที่ดีกว่าไม่ไกลเกินเอื้อม โลกใบที่โลกอีกมากมายมีที่ทางอยู่ได้ (seguir pensando que un mundo mejor es posible, un mundo que quepan muchos mundos)” หรือ “ผู้ปกครองจักต้องปกครองด้วยการเชื่อฟัง” หรือ “เราพยายามก่อการปฏิวัติที่ทำให้การปฏิวัติแท้จริงเป็นไปได้ขึ้นมา”
ฉันตื่นเต้นกับภูมิปัญญาแห่งนักปฏิวัติ ผู้เชื่อมั่นในศักยภาพของประชาชนที่คิดเองได้ทำเองเป็น ผู้แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีนั้นก่อรูปมาจากการปฏิบัติ ฉันตื่นเต้นกับคำยืนยันว่าจากดินมีแต่กลิ่นความหวัง กลิ่นระรื่นแก่ความเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่ได้มาถึง ต่างจากกลิ่นของความกลัวจากฟ้า ที่พากลิ่นน้ำมันฝุ่นควันจากเฮลิคอปเตอร์ทหารที่สอดส่องกราดดูภูปฏิวัติ กลิ่นของความกลัวผีนักรบผู้ล่วงลับแต่กลับมาเดินได้อย่างแข็งแกร่งกว่าเดิม
ฉันตื่นเต้นกับรายการยาวเหยียดของมวลมหาประชาชนพันธมิตร จากภาคส่วนอื่นของเม็กซิโกและทั่วโลก ตั้งแต่คนพื้นถิ่นกลุ่มที่นอกวงซาปาติสต้า กรรมกร ชาวนา นักเรียนนักศึกษา คนรุ่นใหม่ สตรี แม่บ้าน พนักงานประจำ ครูอาจารย์ เฟมินิสต์ เกย์ เลสเบี้ยน นักเคลื่อนไหว ปัญญาชน ศิลปิน แรงงานต่างด้าว คนไม่มีทะเบียน ผู้พิการ นักข่าว เอ็นจีโอ — รายการพันธมิตรทำนองนี้จะตบเท้าดาหน้ามาทุกครั้งที่คนเขียนเล่าถึงแคมเปญแต่ละครั้งของขบวนการ
ตื่นเต้นที่ภายในขบวนการมีความเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรมระหว่างเพศ มีแม่ทัพที่เป็นผู้หญิงหลายคนที่มีบทบาทต่อเนื่อง ตื่นเต้นที่พวกเขาต่อสู้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งบู๊ทั้งบุ๋น
แต่ความตื่นเต้นของฉันค่อยๆ จางหายไป ความรู้สึกกังขาและจืดจางผุดขึ้นมาแทนที่
ไม่ได้กังขาในศักยภาพความคิด การต่อสู้ ของประชาชน ควายแดงอย่างฉันไม่เคยสงสัยว่าประชาชนเขาก็เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต ใครหาว่าโรแมนติกจะเอาเขาขวิดเข้าให้ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนไม่มีที่ติ ก็เพราะมีที่ติน่ะสิมันถึงเรียนรู้ได้เอง
แต่ที่ฉันกังขาคือบทบาทของ “ผู้นำ” ขบวนการ
(หมายเหตุ: พ่อทักษิณไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับท่านรองฯมาร์โกส พ่อทักษิณไม่ได้เป็นผู้นำขบวนการไหนหรอก แค่สองคนนี้เคยมี “ราศี” มากเหมือนกัน ชูนิ้วคล้ายๆ กัน และชอบส่งสารจากทางไกลไปเปิดในที่ชุมนุมเหมือนกัน – พ่อทักษิณโฟนอิน ส่วนท่านรองฯมาร์โกสอัดเทปส่ง)
ท่านรองผู้บัญชาการมาร์โกสเป็นแค่ท่านรองฯ ก็เพราะท่านรองฯ อยู่ใต้บังคับบัญชาของคณะแม่ทัพนายพลผู้บังคับบัญชาคนพื้นถิ่นอีกต่อหนึ่ง ท่านรองฯ จึงไม่ได้เป็นผู้นำเบ็ดเสร็จ
แต่ก็นะ ด้วยความที่เป็นโฆษกของขบวนการซาปาติสต้า แถมยังเป็นคนวางแผนยุทธศาสตร์ทหารคนสำคัญ ท่านรองฯมาร์โกสเลยกลายเป็นใบหน้าของขบวนการไปโดยปริยาย ทั้งในเรื่องเล่าของผู้คน และในภาพสื่อ ที่ท่านรองฯสุดเท่มีผ้าคาดหน้า ดูดไป๊ป์ ขี่ม้า แววตาของท่านรองฯ หรือก็แสนหยาดเยิ้มและเปี่ยมความหวัง ไม่พอแค่นั้น ท่านรองฯยังเป็นนักเขียน นักเล่าเรื่องที่มีชีวิตชีวา มีอารมณ์ขันเสียอีก
การสื่อสารระหว่างขบวนการและโลกภายนอกจึงมีตัวกลางคือท่านรองฯ มาร์โกสเป็นหลัก หลังจากที่ขบวนการซาปาติสต้าเริ่มปรากฏตัวในสื่อสาธารณะในวันปีใหม่ของปี 1994 ขบวนการก็เริ่มเปลี่ยนทิศทาง เพราะปรากฏว่าประชาชนทั่วไปเทหัวใจมาเชียร์ เพียงแต่ขอให้ใช้สันติวิธี ไม่จับอาวุธ นับแต่นั้นมาอีกสิบปี การต่อสู้ของพวกเขาก็ยึดหลักการสื่อสารกับมวลชนภายนอก เน้นการเจรจา รณรงค์อย่างสันติ และการสื่อสารกับภาคประชาสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งอาวุธ ยังคงต่อกรกับทหารของรัฐที่มุ่งแต่จะเอาอิสรภาพคืนไปจากคนพื้นถิ่น
ท่านรองฯ มาร์โกส (และทีมงาน) ชำนาญในเกมสื่อมาก แกสรรหาแคมเปญใหม่ๆ มาให้ตื่นเต้นเสมอ ทั้งจัดประชาพิจารณ์ระดับชาติ ระดับนานาชาติ จัดประชามติ จัดเจรจากับรัฐบาล ส่งตัวแทนคนพื้นถิ่น 5000 คนไปรับฟังความเห็นทั่วประเทศ จัดขบวนเดินเวียนรอบเม็กซิโกเพื่อรู้จักประชาชน เขียนแถลงการณ์ปกป้องจุดยืนถืออาวุธแต่ใช้สันติวิธีของซาปาติสต้า เขียนจดหมายสนับสนุนขบวนการปลดปล่อยทั่วโลก เขียนจดหมายวิจารณ์ขบวนการอื่นที่ใช้ความรุนแรง(มากกว่า) เขียนเรื่องเล่าสอนใจลงนิตยสารชื่อดัง ฯลฯ
เพราะความชำนาญนี่แหละ บวกกับความงี่เง่าของรัฐบาลเม็กซิกัน เป็นผลให้ในช่วงสิบปีแรกของ “สงครามสื่อ” ขบวนการซาปาติสต้าชนะขาดลอย รัฐบาลเม็กซิกันขุดหลุมฝังตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการใช้กำลังปราบขบวนการประชาชน สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ ฯลฯ จนสุดท้ายสังคมทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติเอือมระอา ประชาชนเม็กซิโกสั่งสอนด้วยการเลือกตั้ง เฉดหัวพรรคขวา PRI ที่ครองสภามาเจ็ดสิบปีพ้นตำแหน่ง (แล้วเลือกประธานาธิบดีขวาอ่อนๆ นักธุรกิจโคคาโคล่าขึ้นมาเป็นแทน (อ้าว!))
แม้ท่านรองผู้บัญชาการมาร์โกส ≠ กองทัพซาปาติสต้าปลดแอกชาติ
และแม้ กองทัพซาปาติสต้าปลดแอกชาติ ≠ ชุมชนคนอินเดียพื้นเมืองมากมายที่สนับสนุนหรือเห็นใจขบวนการ แต่ภาพที่ออกมามันก็เป็นแบบนั้น ในบทสัมภาษณ์ท่านรองฯ มาร์โกสท้ายเล่ม ต่อคำถามที่ว่า มีข้อวิจารณ์ต่อตัวเองอย่างไรบ้าง ท่านรองตอบว่า:
Si pudiera regresar el tiempo, lo que no volveríamos a hacer es permitir y… promover… que se haya sobredimensionado la figura de Marcos. / ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เรื่องที่พวกเราจะเปลี่ยนไม่ทำ คือที่เราปล่อยให้… สนับสนุนให้… ภาพลักษณ์ของมาร์โกสยิ่งใหญ่จนเว่อร์
—Subcomandante Insurgente Marcos, 272
ขนาดท่านรองฯ มาร์โกสยังรู้สึกว่าภาพตัวเองเว่อร์เลย…
อย่างที่ เช เกวารา บอก นักปฏิวัติที่ดีอาจจะต้องตายตั้งแต่ยังหนุ่ม (ฉันไม่ค่อยเคยได้ยินคนพูดถึงนักปฏิวัติตอนเป็นสาว) วันเวลารุ่งโรจน์ของท่านรองฯ มาร์โกสผ่านไปนานแล้ว
ภาพแสดงถึงทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า ท่านรองฯ มาร์โกส แท้จริงแล้วเป็นหุ่นเชิดของพรรคฝ่ายขวา และสหรัฐอเมริกา ที่มาฉวยชิงการปฏิวัติที่แท้จริง
ไม่ว่าจะชำนาญการรณรงค์เรื่องต่างๆ ขนาดไหน หลายปีผ่านไป สื่อมวลชนก็ค่อยๆ เลิกเชียร์ท่านรองฯ และขบวนการไปทีละค่ายๆ จนเหลือแค่หยิบมือ จนทุกวันนี้แม้แต่ฝ่ายซ้ายในเม็กซิโกจำนวนมากก็มองท่านรองฯ มาร์โกสเป็นตัวตลกไปเสียแล้ว ไม่งั้นก็มองเป็นคนทรยศไปเลย อย่างที่ไปโจมตีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝ่ายซ้าย Andrés Manuel López Obrador ตอนปี 2006 จนเสียงฝ่ายซ้ายแตก แพ้เลือกตั้งอยู่ไม่ถึงสามแสนคะแนน อีกทั้งท่าทีของขบวนการซาปาติสต้าเองก็ตีตัวออกห่างสถาบันการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เข้าร่วมการเลือกตั้งเมื่อปี 1994 จนบอยค็อต ไปจนถึงเผาคูหาเลือกตั้งเลยเมื่อปี 2003
แม้โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ไม่พยายามขับเน้นความโดดเด่นของท่านรองฯ มาร์โกสในขบวนการจนเกินไป แต่หลังปกก็เจิมไว้ด้วยวาทะของท่านรองฯ ว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์สาธารณะของขบวนการซาปาติสต้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด”
แม้ท่านรองฯ จะพูดว่า ให้อ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกระจกชิ้นเล็กๆ ที่ประดับบนไห ที่ผู้อ่านจะพบตัวเองในนั้น – แม้ท่านรองฯ จะพูดว่า ไม่ต้องการที่จะสงวนการเป็นเจ้าของการต่อสู้ของซาปาติสต้า ไม่ได้แนะนำให้ส่งเข้าหรือส่งออกไปที่การต่อสู้ไหน เพราะการต่อสู้ต่อต้านลัทธิทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่ซาปาติสต้าคิดขึ้นมา – แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ท่านรองฯ เองนั่นแหละที่ประดิษฐ์มันขึ้นมา ก็ท่านรองฯ เองนั่นแหละที่พูดมันออกมา
และก็ให้สงสัยว่า ทำไมคุณกลอเรีย มุนโญส รามิเรส นักข่าวที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนซาปาติสต้าเจ็ดแปดปี ออกมาได้หนังสือเล่มนี้ออกมา จึงเขียนด้วยท่วงทำนอง “ลิเบอรัล”? ทำไมต้องเน้นเหลือเกินกับความหลากหลายของพันธมิตรลิเบอรัลจากภาคประชาสังคม? และการที่ท่านรองฯ มาร์โกสเชียร์หนังสือเล่มนี้เนี่ย ตกลงตั้งเป้าคนอ่านไว้ว่าจะเป็นใครมากกว่ากัน ระหว่างกระฎุมพีเสรีนิยม “cosmopolitan” ผู้เอื้ออาทรและรังเกียจความรุนแรง หรือควายแดงรุ่นใหม่ผู้ฝันใฝ่ปฏิวัติสังคม?
ไม่ว่าจะอย่างไร ควายแดงอย่างฉันก็ยังหลงสเน่ห์ท่านรองฯ มาร์โกสไม่เสื่อมคลาย
ใครหาว่าฉันโรแมนติกจะเอาเขาขวิดเข้าให้
+ + +
หมายเหตุ ๑: ต่อคำถามที่ว่าท่านรองฯ มาร์โกส ชอบผู้ชายหรือไม่นั้น ท่านได้ตอบไว้อย่างเด็ดดวงว่า: “มาร์โกสเป็นเกย์ในซานฟรานซิสโก เป็นคนดำในแอฟริกาใต้ เป็นคนเอเชียในยุโรป เป็นชิกาโนในซานอีซีโดร เป็นแอนาคิสต์ในสเปน เป็นคนปาเลสไตน์ในอิสราเอล เป็นชนพื้นถิ่นข้างถนนในเมืองซานคริสโตบัล เป็นคนยิวในเยอรมนี . . .” และอีกมากมายเกินจะเอ่ย สรุปสั้นๆ ว่ามาร์โกสเป็นทั้งหมดทั้งมวลที่ก่อความอึดอัดให้แก่อำนาจและแก่สำนึกดีชั่ว . . . ว่าแต่ว่าถ้าท่านรองฯ มาร์โกสมาอยู่ในปลักโคลนควายแดงเดียวดาย ท่านรองมาร์โกสจะเป็นอะไรกันนะ?
หมายเหตุ ๒: ขณะอ่านหนังสือเล่มนี้ไปพลาง ฉันก็นึกเทียบกับการเมืองไทยไปพลาง ทางหนึ่งก็เทียบกลยุทธของรัฐบาลที่ใช้ปราบปรามประชาชนกับศอฉ. ที่ทำกับเสื้อแดง ก็มีอย่างอยู่ๆ ก็บุกรุกหมู่บ้าน เพราะอ้างว่ามีซ่องสุมอาวุธสงคราม (เหมือนวัดปทุมไหม) หรือนักการเมืองออกมาแถลงว่าสถานการณ์ปกติดี มีแค่ผู้ก่อความไม่สงบจำนวนหนึ่ง สร้างความแตกแยก แถมบางคนในนี้ไม่ใช่คนเม็กซิกันด้วยนะ (“คนไทยรึเปล่า???”) อีกทางหนึ่งก็เทียบการต่อสู้ของ EZLN กับขบวนการภาคประชาชนของไทย เทียบไปเทียบมาควายแดงอย่างฉันก็เริ่มงง คือกองกำลังซาปาติสต้ามันสู้เพื่อประชาชนคนยากไร้ก็จริง แต่บางช่วงมันเรียกร้องคล้ายๆ กปปส. อยู่นะ คือมุ่งโจมตีไปที่ “ชนชั้นนักการเมือง” ที่ไว้ใจไม่ได้ ตอนนึงก็คล้ายๆ จะขอให้มี “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” บางทีก็ไม่เอาเลือกตั้งเผาคูหาไปเลย บอกว่าพรรคซ้ายทรยศประชาชน ที่ไปเกี๊ยะเซี้ยะกับพรรคอื่นไม่ยอมปฏิรูปรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิเสรีภาพกับคนพื้นถิ่น คนยากคนจนอย่างที่ได้ตกลงไว้ ฯลฯ เทียบไปเทียบมาเลยเลิกเทียบเลย เพราะมันไม่เหมือนกัน!