ประจักษ์พยานเดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง

แดนอรัญ แสงทอง, เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง, ๒๕๕๕

เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง

เมื่อตอนฉันยังเด็ก สมัยที่ยังนอนแช่น้ำเย็นชำระตัวได้คราวละเป็นชั่วโมงๆ นั้น เวลาฉันบ่นเรื่องอะไรก็ตาม แม่มักสอนฉันว่า มีคนอีกมากมายในโลกที่ลำบากยากเข็ญกว่าเรา ความทุกข์ของเศรษฐีที่ปวดฟัน หรือจะเทียบได้กับความยากแค้นแสนเข็ญของยาจกข้างถนนผู้ที่ชีวิตนี้ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากลมหายใจกับกระสอบสีตุ่น

ฉันไม่เคยซาบซึ้งในคำสอนนี้เลย ก็ฉันจะซาบซึ้งได้อย่างไร ในเมื่อฉันใช้ชีวิตวัยเยาว์อย่างสุขุมาลชาติ

แต่แม่ฉันก็ยังคงสอนอย่างนี้อยู่ร่ำไป บางทีก็ร้องเพลงเก่าครึเพลงนั้นที่มีท่อนฮุกว่า
“หัน…มา ทางนี้!
มี…ผู้ ยากไร้
เขาเหงายิ่งกว่า
ลึกคว้างกว้างไกล
มีมากมีมาย
ใต้ฟ้ามัวหม่น…”

ชีวิตวัยเด็กของแม่ยากจน ต้องทำงานไปเรียนไป เป็นชีวิตที่ฉันเองจินตนาการไม่ถึง
เช่นเดียวกับชีวิตของนางปฏาจารา และตัวละครสมัยพุทธกาลทั้งหลาย…

ฉันจำได้หรอก เรื่องราวของนางปฏาจารา ลูกเศรษฐีผู้หนีไปสร้างรังรักยากไร้กับคนใช้ในบ้าน อยู่มาวันหนึ่งผัวนางถูกงูกัดตาย ลูกชายคนหนึ่งถูกเหยี่ยวคาบไป อีกคนพลัดตกแม่น้ำจมลับหาย นางกลับมาถึงคฤหาสน์ของครอบครัวก็พบว่าเมื่อคืนก่อนที่บ้านฟ้าผ่าไฟไหม้ บิดามารดรนางตายโหงลงสิ้น นางเสียสติวิปลาสผ้าผ่อนไม่อยู่กับเนื้อตัว ซมซานไปจนถึงวิหารขององค์ศาสดา และในที่นั้น นางก็ฟังธรรมเทศนาที่พานางหลุดพ้นเป็นพระโสดาบัน…

ฉันจำได้ ภาพบนจอโทรทัศน์ของวัด ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสตรีนางนี้ในรูปแบบการ์ตูน ฉันจำได้ แต่ฉันก็ไม่ได้ซาบซึ้ง ก็ชาตินี้ฉันยังไม่เคยเป็นแม่ที่เสียผัวเสียลูกเสียบ้านไปนี่

วันนี้ฉันได้อ่านนวนิยาย “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” ของแดนอรัญ แสงทอง
เรื่องราวของพระกีสาโคตมี ภิกษุณีผู้มีพระนางปาฏาจารีเป็นอุปัชฌาย์
ก่อนที่นางจะลาโลกมนุษย์ นางได้เล่าเรื่องชีวิตของนางก่อนที่จะได้มาออกบวชให้นางภิกษุณีในกุฎีได้ฟัง
แดนอรัญถ่ายทอดเรื่องราวและเสียงเล่าของนางกีสาออกมาได้อย่างตราตรึงใจ
นี่คงจะเป็นหนังสือของแดนอรัญที่ฉันชอบมากที่สุด

มันคงเป็นเรื่องง่ายเหลือเกินถ้าจะสรุปเรื่องเล่าเรื่องนี้ให้ท่านฟังในหนึ่งประโยค ไม่ยากเลย
เพียงแค่ที่นางกีสาโคตมีประกาศในหน้ารองสุดท้ายว่า “ชะตากรรมอันร้ายกาจของดิฉันนั้น เทียบกับชะตากรรมของพระแม่ปฏาจาราแล้ว ก็เป็นเพียงแค่ทรายเม็ดหนึ่งบนหาดทรายเท่านั้น” (105) ก็สรุปเรื่องราวทั้งหมดได้แล้ว

หากคนที่จะพูดเช่นนี้ได้ ก็จักต้องผ่านความทุกข์ทนสาหัสมาก่อนเท่านั้น

มีแต่ผึ้งเท่านั้นที่จะล่วงรู้ลึกซึ้งถึงสุคนธรสแห่งดอกไม้งาม เธอต้องเป็นผึ้งเสียก่อน เธอจึงจะตอบตนเองได้ว่า ‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง’ นี้ เป็นสุคนธรสแห่งดอกไม้งามหรือไม่ หรือเป็นอย่างอื่น
—แดนอรัญ​แสงทอง,​คำตาม,​เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง

นางกีสาโคตมีเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญต่อสัจธรรมที่ว่า “มีแต่ผึ้งเท่านั้นจะล่วงรู้ลึกซึ้งถึงสุคนธรสแห่งดอกไม้งาม”

ก่อนที่นางจะยังไม่เสียลูกชาย ยังเป็นเมียทาสในเรือนเศรษฐีนั้น ทุกเช้านางจะเอาอาหารไปถวายบิณฑบาตแก่พระนางปฏาจารา และทุกเช้าเช่นกันที่พระนางจะมองนางด้วยดวงตาเยือกเย็นเห็นทะลุถึงชะตากรรมของนาง และบอกแก่นางว่า “การได้พบกับสิ่งที่ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เป็นทุกข์ การต้องพลัดพรากจากสิ่งที่น่ารักใคร่ น่าพอใจ ก็เป็นทุกข์”

หากนางกีสาไม่เคยซาบซึ้งถึงสัจธรรมนี้เลย จนกระทั่งนางได้สูญเสียลูกชายสุดรักของนางไป

และหนทางเดียวที่นางจะได้สติกลับคืนมา ก็หาใช่ด้วยคำเทศนาของเจ้าลัทธิจอมศากยวงศ์ที่ทิ้งนางพิมพาไปออกบวช หากเป็นคำบัญชาของพระองค์ให้นางไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากหมู่บ้านที่ไม่เคยมีคนตายมาให้ พระองค์จึงจะสามารถรักษาพิษงูให้ลูกชายฟื้นคืนชีพมาได้

การออกไปสืบเสาะหาหมู่บ้านที่ไม่มีคนตายทั่วทีปทั่วแดนนั้นเอง การที่หาเท่าไรก็หาไม่พบนั้นเอง ที่ทำให้นางได้มีสติไตร่ตรอง

+ + +

มันเป็นการง่ายเหลือเกิน ที่ผู้อ่านจะอ่านข้ามๆ ที่ผู้ฟังเทศน์จะฟังผ่านๆ ที่นักเขียนนักเทศน์จะเล่าส่งๆ ถึงเรื่องราวสมัยพุทธกาลเหล่านี้ แล้วฉกฉวยเอาบทเรียน เอาสัจธรรม กลับไปประดับเป็นคุณธรรมประจำใจ เราจะต้องต่อต้านการอ่านแบบมักง่ายเช่นนี้ การอ่านที่โซเรน เคียร์คีกอร์ด นักปรัชญาชาวสวีดิช เรียกว่า “ขายคำเทศนาราคาถูก” ของอับราฮัมแห่งคัมภีร์ไบเบิ้ล ผู้ได้รับคำบัญชาจากพระเจ้าให้ไปสังเวยลูกชายสุดรักบนยอดเขาห่างไกล และในวินาทีที่เขากำลังจะปักมีดลงบนอกลูกชายนั้นเอง พระเจ้าก็ได้เข้ามาหยุดยั้งไว้ พร้อมบอกว่าอับราฮัมมีศรัทธาต่อพระเจ้ายวดยิ่งควรยกย่องสรรเสริญ

เคียร์คีกอร์ดเตือนให้เราสังวรอยู่เสมอว่าแก่นของเรื่องนี้ไม่ใช่ความเมตตาใหญ่หลวงของพระเจ้าที่ต้องการพิสูจน์ศรัทธาของอับราฮัม แก่นของเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าอับราฮัมเป็นบุคคลตัวอย่าง เคียร์คีกอร์ดบอกว่าเราไม่อาจทำความเข้าใจอับราฮัมได้ เป็นการลดทอนอับราฮัมอย่างใหญ่หลวงถ้าเราไม่พูดถึงความทุกข์ทรมานแสนสาหัสในจิตใจตลอดการเดินทางสามวันสามคืนจากบ้านถึงยอดเขา โดยมีเป้าหมายคือสังหารลูกของตัวเอง ศรัทธาที่แท้คือการกระโดดข้ามพ้นไปจากระบบจริยธรรมทั้งมวล กระโดดไปประจันกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย

แดนอรัญทำหน้าที่ถ่ายทอดความทุกข์ทรมานนั้นได้อย่างหมดจด เขาสามารถเล่าเรื่องที่เล่าให้ตายยังไงก็ไม่เข้าถึงใจหากไม่เคยประสบเองให้มีเลือดมีเนื้อขึ้นมาได้ นี่ไม่ใช่แค่บทพรรณนาความทุกข์โศกของแม่ผู้รักลูกแบบกัณฑ์มัทรีของพระเวสสันดร (ซึ่งมักถูกอ่านอยากมักง่ายในหลักสูตรม.ปลาย) นี่ไม่ใช่แค่คำเทศนาราคาถูกที่เพียงแค่มี “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” ปิดท้ายหนังสือ

แต่กว่าจะไปถึงคติธรรมสั้นจิ๊ดตัดจบไม่กี่หน้า ผู้อ่านก็ต้องประจักษ์พยานการเสียสติจนเข้าป่าเข้าพงลงห้วยลงหนองของนางกีสากระเซอะกระเซิงสุดจินตนาการ นี่คงเป็นข้ออธิบายได้ว่าทำไมหนังสือเรื่องนี้จึงชื่อ “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” ไม่มีประธานประโยค ไม่มีฮีโร่ที่ชื่อ “กีสาโคตมี” มีแต่ภาวะจิตอันอับจนใต้โชคชะตาหม่นมัว

การเป็นพยานนี้ลึกซึ้งกว่าความสงสาร กว้างขวางกว่าความเห็นอกเห็นใจ ถ้าหากเรื่องราวของนางกีสาอาจเป็นคันฉ่องให้ผู้อ่านอย่างฉันมองเห็นเส้นทางชีวิตตัวเอง เห็นควายแดงเดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง เห็นความทุกข์ทรมานที่ทำให้ฉันเป็นฉัน เห็นความกลัวที่หล่อเลี้ยงความกล้าบ้าบิ่นของฉัน เฉกเช่นเดียวกัน

ในสังคมที่แบ่งชนชั้นวรรณะ เหยียดเพศหญิงจนลูกชายด่าแม่ได้ไม่อายปาก นางกีสาทำให้ฉันเห็นถึงทางเลือกในชีวิตของผู้ถูกกดขี่ ตั้งแต่การเป็นทาสีภริยาผู้ซื่อสัตย์ การเป็นแม่ผู้ทุ่มเทใจไปทำนุบำรุงชีวิต การเป็นอีบ้าหอบศพลูกดั้นด้นตามหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การเป็นสตรีผู้ต่อกรกับโจรผู้ร้ายผู้ต้องการล้างแค้นเศรษฐีผู้ขูดรีด ไปจนการเป็นภิกษุณีผู้เทศนาธรรม นางกีสาล้วนเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ในข้อจำกัดนานาของชีวิต

ประโยคเด็ดที่ดลพุทธิปัญญาที่บังเกิดในใจฉันครั้งสำคัญสุดเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ คงจะเป็นคำของเศรษฐินีแม่ยายของนางกีสา เมื่อนางรู้เข้าว่าลูกสะใภ้ของตนแอบเอาอาหารไปใส่บาตรพระปฏาจาราทุกเช้า เศรษฐินีผู้รู้สาแหรกและประวัติชีวิตนางก็ได้ด่าทอพระปฏาจาราว่า:-

“อีหญิงโง่โฉดเขลาเยี่ยงสัตว์ แทนที่จะแต่งงานกะเสนาบดี กลับไปหลงเสน่ห์อ้ายคนรับใช้ของตน แล้วเกิดอะไรขึ้นเล่า ผัวตาย ลูกสองคนก็ตาย ทรัพย์สินของตระกูลถูกริบเป็นราชบาตร ตกยากขึ้นมาก็กลายเป็นอีชีโล้น แล้วยังมีหน้ามาอุ้มบาตรดินเผามาขอกูกิน” (๒๘)

หากพระอรหันต์ยังถูกปรามาสแบบมีเหตุมีผลได้ขนาดนี้ ควายแดงเดียวดายอย่างฉันจะหวั่นไหวไปไยกับปาก “คนดี” ที่ไม่มีความเป็นคน.

(ฉันจะเขียนต่อไป ให้ควายอย่างฉัน และคนที่พร้อมเข้าใจเท่านั้น
เมื่อถึงที่สุด เราต่างก็เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง
อย่างน้อยที่สุดที่เราทำได้ก็คือเกาะเกี่ยวกันไว้)

Standard

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s