ในดินแดนวิชาธรและเรื่องสั้นอื่นๆ ความตายไม่มีความหมาย

อติภพ ภัทรเดชไพศาล,​ ในดินแดนวิชาธรและเรื่องสั้นอื่นๆ, 2557

Image

ความตายอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของการเขียนและการอ่าน
แม้จะมีวรรณกรรมมากแค่ไหนที่ทำให้ความตายเป็นเรื่องดราม่า เป็นเรื่องสะเทือนอารมณ์
แต่ “ความตายก็คือความตายอย่างที่ผมบอกน่ะแหละ มันไม่โรแมนติคหรอก” (๑๑๔)
พิธีรีตองตามมาทีหลัง ความสะเทือนใจอยู่เฉพาะกับคนที่ยังมีชีวิต

 

ในแทบทุกเรื่องสั้นของหนังสือ ในดินแดนวิชาธรและเรื่องสั้นอื่นๆ อติภพประทานความตายให้ตัวละครอย่างไร้ความปรานี แล้วก็ตัดจบเสียเฉยๆ อ่านแล้วอารมณ์ค้าง ไม่พบสารที่ต้องการสื่อ เป็นแอนติไคลแมกซ์ที่ทำให้คนอ่านอย่างฉันตั้งคำถามว่า แล้วไอ้ที่เล่ามาทั้งหมดล่ะ?

งานเขียนของอติภพ จบแล้วเหมือนไม่จบ เหมือนถูกโยนไปอยู่อีกภพ เพื่อที่จะตระหนักในท้ายที่สุดว่าลมหายใจของตัวละครในภพนั้นเป็นเพียงการสร้างตัวตน เป็นการที่คนเขียนสร้างความหมายบางอย่างขึ้นมาให้ตัวละคร เป็นตัวตนที่เปราะบาง ตายเอาได้ง่ายๆ เหมือนชีวิตจริงของคนเรา

ในเมื่อความตายไร้ความหมายเป็นจุดจบของการเขียนเล่าเรื่อง คนอ่านอย่างฉันก็อดไม่ได้ที่จะเติมความหมายลงไปต่อ อย่างนั้นแล้วความตายก็กลายเป็นจุดกำเนิด เหมือนตัวตลกในตอนจบเล่ม ที่กระโจนออกไปจากประตูกระจกห้างสรรพสินค้าที่ไม่มีทางออก เพียงเพื่อจะพบว่า เขาออกไปอยู่ข้างในน้ำคร่ำแห่งครรโภทร

 

ความตายและการล้างแค้นดูเป็นประเด็นที่เรื่องสั้นวนเวียนหมกมุ่นอยู่ไม่ห่าง ความตายทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากต้นจนจบเล่ม ทำให้คนอ่านอย่างฉันตระหนักว่า ถ้าฉันริจะอ่านเรื่องพวกนี้ให้ถึงที่สุด ฉันต้องไม่อ่านแค่จุดจบที่เป็นความตาย

ในครึ่งแรก อย่างเรื่อง “เรื่องของบุตรนางอสัตนารี” นั้น ชายหนุ่มเพียงจะไปล้างแค้นอำนาจมืดผู้ให้กำเนิดเขาอย่างอาภัพ แล้วกลับถูกยักษ์เด็ดหัวดื่มกินเลือดสดๆ หรือเรื่อง “อนุสาวรีย์ดวงตะวัน” ตัวละครขบถถูกจุดไฟจนลุกไหม้ดับสูญไปไม่ทิ้งร่องรอย และอีกตัวละครกลายเป็นแผ่นดินที่ไร้ความหมาย หรือเรื่อง “เทวาสุรสงคราม” ที่การฆ่าล้างแค้นของคนเล่าเรื่องหลอมรวมกับการวางเพลิงสลัมของตัวละครที่ผู้เล่าเรื่องประพันธ์ขึ้นอีกต่อหนึ่ง หลอมรวมกันจนแยกไม่ออก ถ้อยคำสับสนจนหมดนัยที่จะสื่อสาร

จนครึ่งหลังของหนังสือ ความตายเริ่มคลี่คลายไปเป็นอย่างอื่น อย่างในเรื่อง “อรพิมพ์เทวีชาดก” ที่การชุบชีวิตคนก่อให้เกิดการสร้างความหมายใหม่ ตัวตนใหม่ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด “ในกระแสเหตุปัจจัย” ที่ความตายของตัวละครอาจนำไปสู่อิสรภาพของเขาจากพระเจ้าผู้เขียน และอิสรภาพนี้มันถูกยื่นมาให้ผู้อ่าน

 

เพราะอย่างนั้นเอง การตัดบทตัวละครโดยนักเขียนผู้เป็นพระเจ้าในเรื่อง “ในโลกวิชาธร” อาจเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าตัวละครนั้นลง เพื่อมอบอิสรภาพให้คนอ่าน นักเขียนผู้เป็นพระเจ้าตัดบทเขากลางคัน แล้วเขียนเกทับเรื่องที่เขาเล่า รื้อถอนตัวตนของเขา ฉีกความหมายที่สร้างมาตั้งสิบหน้ากระดาษลงไม่มีชิ้นดี กระชากคนอ่านอย่างฉันออกจากความเมามายเสียงเล่าในโลกวิชาธร แล้วปล่อยฉันกลับลงในโลกความจริง

 

มิติความเหนือจริงที่อุดมอยู่ในหลายเรื่องที่เขียนด้วยสำนวนภาษาย้อนยุค จนเสมือนว่าเรื่องราวเหล่านั้นเกิดในจักรวาลคู่ขนานที่กาลเวลาเหลื่อมซ้อน ไม่ได้ทำให้คนอ่านอย่างฉันหลุดลอยไปจากโลกความจริง ตรงกันข้าม มิติความเหนือจริงอาจทำให้เราเข้าใกล้โลกความจริง เช่นเดียวกันกับความตายทำให้เราเข้าใกล้ชีวิตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

ปกติฉันจะทนไม่ค่อยได้เวลานักเขียนยัดเยียดความคิดอุดมการใส่ปากตัวละคร แต่ในหนังสือเล่มนี้ แปลกที่ฉันกลับเพลิดเพลินไปกับคำพร่ำบ่นจากปากตัวละคร อิ่มเอมไปกับความหมายที่เสียงเล่าพรั่งพรูออกมา อาจเป็นเพราะฉันรู้มั้งว่า เดี๋ยวมันก็ตายกลายเป็นซากศพในไม่ช้า!

 

ในฐานะที่รักหนังสือที่ทำให้การคิดถึงความตายเป็นเรื่องโรแมนติค อย่างคุณนายดัลโลเวย์ ของเวอจีเนีย วูฟ แล้ว ฉันแปลกใจที่ต้องสารภาพว่า อ่านรวมเรื่องสั้นของอติภพ แล้วฉันรู้สึกทึ่งที่มันทำให้ฉันทั้งได้ส่องสำรวจจนสร่างความเมามายในเสียงเล่า และทำให้ฉันยังคงดื่มด่ำไปกับตัวละครได้ เว่อร์ไปไหมถ้าฉันจะบอกว่า อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วฉันรู้สึกปลาบปลื้มที่ยังมีชีวิตอยู่.

 

วันที่ 19 ในอุโมงค์ทะมึน

ป.ล. ประโยคโปรดในหนังสือเล่มนี้คือ “แต่เขากลับเรื่องมากกว่าที่คิด แข็งกร้าวเกินกว่าที่ควรจะมีชีวิตอยู่บนโลก สิ่งมีชีวิตที่แข็งกร้าวน่ะล้วนแล้วแต่อยู่ใกล้ชิดกับความตายทั้งนั้นแหละ”​(๖๐)

Standard

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s