การปฏิวัติที่หลงเหลือเพียงความโรแมนติค

ปาหนัน ณ ดอยยาว, ดอกเสี้ยวบาน… ที่ดอยยาว ผาหม่น, ๒๕๔๙ หลายเดือนก่อนรัฐประหาร

Image

หากหลังจากแต่ละคืนที่เราหลับใหล สมองทำให้เราหลงลืมเหตุการณ์ราวๆ 80% ของวันวานแล้ว
การย้อนรำลึกประสบการณ์ชีวิตเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน จะคงเหลือสิ่งใดอยู่?

 

“ปาหนัน ณ ดอยยาว” เขียนรวบรวมความทรงจำเมื่อครั้งไปเข้าร่วมกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) หลังจากเวลาผ่านไปยี่สิบปี
พิมพ์เป็นเล่มขายเนื่องในโอกาส “รำลึก ๓๐ ปี หกตุลา”
แต่ฉันอ่านจนจบแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าเขารำลึกหกตุลาฯ จริงหรือไม่ หรือควายแดงอย่างฉันยังอ่อนต่อโลก เกิดไม่ทันเขา อ่านหนังสือไม่แตกก็ไม่รู้

 

หนังสือบันทึกความทรงจำเล่มนี้ ดูจะมีจุดมุ่งหมายตรงข้ามกับ “บันทึกกบฏ” ของยุค ศรีอาริยะ เขาเขียนเล่าความทรงจำในป่าเพื่อประจานความฟอนเฟะของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งที่ปู้ยี่ปู้ยำศักดิ์ศรีมนุษย์เพศหลากหลาย และการเดินตกเป็นทาสจีนทางอุดมการณ์ (หรือข้อหา “ขายชาติ” ในแบบพันธมิตรเสื้อเหลือง ที่ยุค ศรีอาริยะ คลี่คลายกลายเป็นกระบอกเสียงให้ในยามแก่) “บันทึกกบฏ” เปิดกล่องความทรงจำอย่างมีจุดหมายทางการเมือง ทรงพลัง ขนาดควายแดงอย่างฉันได้เรียนรู้มากมายจากเสื้อเหลืองอย่างเขาผู้เป็น “ควายแดงเดียวดาย” ในป่าคอมมิวนิสต์ยุคนั้น

Image

ตรงกันข้าม บันทึกความทรงจำเมื่อครั้งเป็นนักปฏิวัติของ “ปาหนัน ณ ดอยยาว” เอ่ยถึงความแตกแยกภายในพรรคฯ เพียงฉากหลัง แต่ฉายแสงขับเน้นประสบการณ์อันมีสาระแก่นสาร ซาบซึ้งในการอบรมจัดตั้งของสหาย อิ่มเอิบกับการเติบโต และเรียนรู้โลกทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

ฟังดูเปี่ยมความหมาย แต่ฉันไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์ตอนท้าย ต่างยังไงจากการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทแบบฉาบฉวยของนักศึกษายุคนี้

 

เบ้าหลอมปฏิวัติไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งใด นอกจากตัวตนที่เติบโตขึ้นของตัวเอง
สหายหนันยังแยก “ประชาชน” ออกจาก “นักปฏิวัติ”
ยังแยก “หมอปฏิวัติ” อย่างตัวเธอออกจากความล้าหลังดั้งเดิมของ “หมอผีประจำหมู่บ้านและยาสมุนไพร” ซึ่งเป็น “ความเชื่อของประชาชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” (๖๓)

และเมื่อถึงเวลาแตกพ่าย สหายม้งก็กลับไปอยู่กลับครอบครัวในภูเขา ส่วนเธอกลับมาอยู่พื้นราบ

เมื่อรถพาเธอกลับออกจากป่า แล่นไกลออกไป… บรรทัดสุดท้ายของหนังสือเขียนไว้ว่า
“ทุกสิ่ง…ตก อยู่ในความมืดมิด” (๑๐๓)
ออกจะถ่ายทอดความว่างเปล่าของประสบการณ์ได้แยบยล

เมื่อการปฏิวัติว่างเปล่า ความทรงจำแห่งการปฏิวัติจึงเสื่อมสภาพเหลือเพียงความโรแมนติคของมิตรภาพและการเติบโต

 

ตรงกันข้ามกับ “บันทึกกบฏ” ที่อ่านแล้วเห็นชัดถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองในยุคสมัยนั้น

อ่าน “ดอกเสี้ยวบาน… ที่ดอยยาว ผาหม่น” แล้วรู้สึกราวกับว่าประสบการณ์การเป็นนักปฏิวัติหลัง ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ เป็นสิ่งที่จบสมบูรณ์ ตัดขาดจากสังคมปัจจุบัน หลงเหลือเพียงความครื้นเครงครั้งโจมตีค่ายทหารของรัฐไทย ความอาลัยต่อสหายที่ตายไป และรอยฟกช้ำที่หัวเข่าจากการเดินชนต้นไม้ในป่า

น่าแปลกที่ในหน้าสุดท้าย ปาหนันเขียนว่า “ความขัดแย้งได้มาถึงจุดสุดท้ายแล้ว เป็นการลาจากด้วยมิตรภาพและความอาลัย” ยี่สิบสามสิบปีผ่านมา เธอยังเชื่อหรือไม่ว่าความขัดแย้งนั้นจบลงแล้ว? ความขัดแย้งร่วมสมัยไม่เกี่ยวข้องกับวันเวลาเหล่านั้นแล้ว?

น่าแปลกยิ่งกว่า เมื่อสหายเก่าผู้มาเป็นบรรณาธิการหนังสือ โชติช่วง นาดอน ปิดคำปรารภด้วยคำชื่นชมทักษะการเขียนของสหายหนัน “ผมอ่าน…ชื่นชม ดีใจมากๆ ที่วันนี้คนที่เคยเป็นเด็กหญิงเงียบๆ เรียบๆ สามารถเขียนหนังสือได้อย่างงดงามเช่นนี้”

แปลกจนไม่น่าเชื่อว่าตรวจแก้และตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในต้นปี ๒๕๔๙ ท่ามกลางการประท้วงรัฐบาลทักษิณสมัยที่สอง ที่เป็นชนวนไปสู่การยุบสภา เลือกตั้งแล้วโมฆะ และการรัฐประหารวันที่ ๑๙ กันยาฯ

 

กล่องความทรงจำที่ทะนุถนอมไว้หลายสิบปี แง้มดูอีกครั้ง กลิ่นโรแมนติคลอยฟุ้งตลบอบอวล

กล่องความทรงจำนี้จะมีค่าต่อ “สังคมส่วนรวม” ได้จริงอย่างที่สำนักพิมพ์คาดหวัง ก็ต่อเมื่อมันสามารถส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ คนที่จะสานต่องานรังสรรค์โลกที่ดีกว่า

ฉันเปิดกล่องนี้ ภายใต้บรรยากาศเผด็จการทหารเกือบสี่สิบปีให้หลัง ด้วยหวังว่าจะพบอะไรสักอย่างไว้ปลอบประโลมใจ หวังจะพบจิตวิญญาณบางอย่างในความทรงจำ
ฉันไม่พบอะไรเลย
นอกจากอากาศธาตุอุ่นๆ กรุ่นกลิ่นเย็นๆ ของดอกเสี้ยวบาน.

Standard

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s