อุมมีสาลาม อุมาร, ความตายในเดือนรอมฎอน, 2555
ตั้งแต่กองทัพบกประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศเพื่อกำราบและกวาดล้างควายแดงอย่างฉัน ฉันรู้สึกเสมือนเป็นญาติมิตรทางจิตใจกับโลกมุสลิมชายแดนภาคใต้มากขึ้นทุกวันๆ
เป็นเหตุให้ฉันเปิดอ่านไฟล์ “ความตายในเดือนรอมฎอน.pdf” ที่ฉันไปเก็บมาจากเว็บไซต์ Young Thai Artists Award ของ SCG Foundation เมื่อสองเดือนก่อน
อ่านแล้วก็ไม่ผิดหวังเลย และออกจะรู้สึกขอบคุณ ฉันจึงขอเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ เพ่ือเป็นกำลังใจให้ อุมมีสาลาม อุมาร สร้างงานต่อไป
รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ถ่ายทอดชีวิตประจำวันของคนหลากหลายในโลกร่วมสมัยของปัตตานี ทั้งคนคุกผู้เข้าร่วมขบวนการปลดแอกจากรัฐไทยใน “ความตายในเดือนรอมฎอน” หญิงสาวที่มารำลึกสิ่งที่ดับสูญหลังจากจากบ้านไปเรียนกรุงเทพหลายปีใน “แพะหลังหัก” โต๊ะอีหม่ามผู้พยายามธำรงวัตรปฏิบัติอันดีงามของชาวมุสลิมในหมู่บ้านใน “พุทราต้นสุดท้าย” หรือชีวิตครอบครัวที่มักมีพ่อเป็นตัวปัญหาแต่ก็ขาดไม่ได้
ฉันอ่านเรื่องเหล่านี้อย่างเพลิดเพลิน รู้สึกสะเทือนใจไปตามตัวละคร อาการแบบนี้จะไม่เกิดกับฉันบ่อยนัก เพราะเป็นคนไม่ค่อยอินกับเรื่องสั้นแนว “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ตามขนบรางวัล แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอุมมีสาลามเขียนได้ดี หรือเป็นฉันเองหัวใจอ่อนไหวมากขึ้นต่อชีวิตธรรมดาๆ ที่มาพบเคราะห์
หรือเป็นหัวใจฉันเองที่เปลี่ยนไป เพราะมันเองกำลังจะพบเคราะห์ พ้อความสาบสูญ
เรื่องสั้นเหล่านี้เรียบง่าย แต่ทรงพลังอย่างยิ่ง
อุมมีสาลามถ่ายทอดชีวิตของคนอย่างเป็นมนุษย์ (เอ…ควายแดงอย่างฉันหรือจะรู้ว่า “เป็นมนุษย์” นี่จริงๆ แล้วมันคืออะไร) พูดอีกแบบก็แล้วกันว่า ตัวละครทั้งหลายดูมีความทรงจำ มีเลือดเนื้อ มีความอ่อนไหว และพวกเขาก็ถูกเล่าออกมาอย่างนั้น ปล่อยให้คนอ่านรู้จักหัวจิตหัวใจของเขาเอง
เพราะตัวละครอย่างพ่อที่ไร้เหตุผลในเรื่อง “ย่า” และนักลอบสังหารในเรื่อง “ความตายในเดือนรอมฎอน” ยังถูกเล่าอย่างมีความทรงจำ มีเลือดเนื้อ มีความอ่อนไหว รวมเรื่องสั้นเล่มนี้จึงทรงพลัง (ฉันอยากพูดว่าทรงพลังมนุษยภาพ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า “มนุษยภาพ” มันมีพลังอะไรยังไง) ชอนไชไปในภาพตายตัวที่เราอาจมีต่อ “พ่อ” “ผู้ก่อการร้าย” “คนเคร่งศาสนา” ให้ภาพตายตัวเหล่านั้นโลดแล่น จนสลัดหลุดไม่ตายตัวอีกต่อไป…
และที่ทรงพลังที่สุด เห็นจะเป็นการทำให้ “ความสาบสูญ” มีเลือดเนื้อตัวตนขึ้นมา อย่างเจ้าอาวาสและแพะที่ตายไปแล้วใน “แพะหลังหัก” แต่ยังโลดแล่นอยู่ในความทรงจำ
+ + +
จริงอยู่ที่ฉันอ่าน ความตายในเดือนรอมฎอน เพราะชีวิตอมทุกข์ภายใต้กฎอัยการศึก แต่เมื่ออ่านไปๆ พบว่าเรื่องการเขียนและการเล่าเรื่องกลับโดดเด่นขึ้นมา โดยเฉพาะในครึ่งหลังของเล่ม ความไม่สงบในชายแดนใต้เริ่มเลือนหายไปจากฉากหลักของงานเขียน ในขณะที่ความเป็นประดิษฐกรรม เป็นเรื่องเล่าของมันเริ่มฉายชัด โดยเฉพาะในเรื่อง “นิทานของพ่อ” และ “นักสร้างเรื่อง” ซึ่งการเล่าเรื่องกลายเป็นตัวสำคัญยิ่งกว่าตัวละครที่เล่า
มีบรรทัดหนึ่งในเรื่อง “นักสร้างเรื่อง” ที่ตัวเอกของเรื่องพยายามเขียนเรื่องสั้นส่งประกวด ด้วยการลองอ่านรวมเรื่องสั้นที่ได้รางวัล Young Thai Artists Award รุ่นแรกๆ แต่ปรากฏว่าเขาอ่านไม่เข้าใจเลย:
เขาได้มันมาเพียงสองเล่ม เล่มหนึ่งเป็นเรื่องสั้น อีกเล่มเป็นนวนิยาย เปิดอ่านดูคร่าวๆ อย่างไม่ตั้งใจนัก แล้วพยายามจับกลวิธีการเขียนของนักเขียนหนุ่มที่เขียนเรื่องสั้น “วรรณกรรมตกสระ” แต่มันช่างดูโง่เขลาเหลือเกิน เขาไม่รู้เลยว่าเรื่องนี้มีแก่นเรื่องว่าอย่างไร
เขาตีความไม่ออก…
พลิกหน้าต่อไป อย่างน้อยอาจจะเจอเรื่องที่อ่านง่ายกว่าเรื่องแรกสักนิด แต่ก็เหมือนเดิม เขาไม่สามารถตีความเรื่องสั้นของนักเขียนหนุ่มคนนั้นได้ แล้วเขาจะลงมือเขียนเรื่องสั้นได้อย่างไร (๕๒)
นึกจะหัดเขียน “โครงเรื่อง” ก็ทำไม่เป็น จนในที่สุดก็ล้มเลิกจะเอาแรงดาลใจจากหนังสือรางวัล หันไปหยิบ “เรื่องสั้นที่ดีที่สุดของนักเขียนที่ดีที่สุดซึ่งเขาเคยอ่าน” มาวางตรงหน้า แล้วลงมือเขียนโดยอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่องกลวิธีและโครงเรื่อง
ในฐานะที่เป็นคนที่อยากเขียนหนังสือ แล้วมีปัญหาในการโครงเรื่องเหมือนกับตัวละครนักเขียนในเรื่องนี้ ฉันได้ตระหนักจากการอ่านว่า เรื่องที่เราชอบอ่านและเห็นว่าดี ย่อมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และนั่นก็ส่งผลให้เราเขียนเรื่องหนึ่งในแบบหนึ่งๆ ส่งผลให้เราสามารถเขียนเรื่องนั้นได้
จากที่ฉันเคยพิศวงหลงใหลไปกับ “วรรณกรรมตกสระ” ของภาณุ ตรัยเวช วันนี้ฉันกลับพบว่า ความเรียบง่ายไม่หวือหวาของ “ความตายในเดือนรอมฎอน” สอดคล้องกับสภาพชีวิตของฉันตอนนี้มาก เหมือนการได้อ่านเรื่องเล่าของชีวิตเหล่านั้น เติมพลังให้ฉันอย่างประหลาด
และมันก็คงจะส่งผลให้ฉันสามารถเขียนเรื่องที่ฉันต้องการเขียนได้ สักวันหนึ่ง.
วันที่ 27 ในอุโมงค์ทะมึน
ควายแดงเดียวดาย.
*แต่ก่อนหนังสือหลายเล่มของนักเขียนรุ่นเยาว์ที่ได้รับรางวัล Young Thai Artists Award มีสัญญาตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ แถมมีศิลปินวาดภาพประกอบงานเขียนเสียเอิกเกริก แต่เดี๋ยวนี้นานมีบุ๊คส์ไม่เอาไปพิมพ์แล้ว หนังสือที่ได้รางวัลสูงสุด ทางมูลนิธิก็ปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรีแบบเงียบๆ บนเว็บไซต์ของมูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย…ไหนๆ ผู้เขียน pdf นี้ก็ได้เงินรางวัลไปแล้ว ได้อ่านฟรีๆ ก็ดีเหมือนกัน แต่จะมีหนทางอื่นไหมที่นักเขียนรุ่นใหม่ จะได้แลกเปลี่ยนงานกันและกัน โดยไม่ต้องผ่านเวทีประกวดของเอสซีจี โดยไม่ต้องผ่านค่ายอบรมที่สนับสนุนโดยซีพีออลล์?