ภาษาต่างด้าว: ไม่ใช่ภาษาของเรา แต่ก็ไม่ใช่ภาษาของเขาเสียทีเดียว

ชัชวาลย์ โคตรสงคราม, เสียงกลองน้ํา, สํานักพิมพ์หนังสือแม่น้ําโขง,​ 2557
+ คําสัมภาษณ์ของเขาใน WRITER 30 “เลือดอีสาน,” หน้า 78-85

chatchawal_siangklongnam

ฉันใช้เวลานานมากกว่าจะอ่านรวมเรื่องสั้น “เสียงกลองน้ํา” จนจบ เรื่องแรกๆ อ่านไปด้วยความพิศวงงงงวย ไม่เข้าใจ อยากจะเขวี้ยงหนังสือออกให้พุ่งลิ่วเหมือนวัตถุลึกลับสีขาวในเรื่อง “ชีวิตที่มี ระดับ” ที่ “พุ่งลิ่วเข้ามาปะทะหน้าอกกับใบหน้าเขาอย่างแรง จนท้องน้ํากระจายพร้อมกับเสียงหวีดร้อง” (55) แต่ตั้งแต่เรื่อง “คุณลุงของพระเจ้า” เป็นต้นไป ตัวหนังสือเหล่านี้ก็นําความหลากใจเหมือนน้ําที่จู่ๆ ก็ไหลหลากในสายตาของสาววัยกลางคนผู้กลับไปเยี่ยมบ้านเก่าใน “การกระโดดน้ําครั้งล่าสุด” นําความอัศจรรย์ใจบางอย่างที่รุนฉันให้อ่านไปเรื่อยๆ ทีละเรื่อง ทีละเรื่อง

คงเป็นเพราะฉันไม่เคยอ่านอะไรแบบนี้มาก่อน เรื่องสั้นที่ค่อยๆ ซึมเข้ามาในสายตา ด้วยรายละเอียดของตัวหนังสือที่เขียนด้วยหมึกหยาดฝนรินกลิ่นดอกมันปลา สร้างบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง อีกโลกหนึ่งที่ฉันเองไม่คุ้นเคยในโลกความจริงและยังไม่คุ้นเคยอีกในโลกการอ่าน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหมือนที่ปกในประกาศไว้ว่า “การอ่าน / คล้ายสะพานไม้ลําเดียว / สําหรับข้ามน้ําห้วยแห่งความตื้นเขิน / ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม” คงเป็นเพราะฉันไม่รู้จักความลึกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม

ตัวละครในเรื่องสั้นของ ชัชวาลย์ โคตรสงคราม มักเป็นตัวละครชนชั้นแรงงานที่มีชาติพันธุ์อื่นนอกเหนือจากความเป็นไทย ความละเมียดละไมในการเล่าเรื่องช่วยให้ตัวละครเหล่านี้มีมิติความเป็นมนุษย์ขึ้นมา ทําให้ชาวบ้าน กรรมกร หรือแม้แต่เมล็ดข้าว เหล่านี้มีความหลัง มีความปรารถนาที่หลากหลาย โดยฝังรากอยู่ในวิถีชีวิตความเป็นลาว พาให้นึกถึงกลิ่นหอมเย็นของดอกอินถวา นึกถึงบทสนทนาของชาวบ้านที่ไม่มีการสรุปจบในคราวเดียว นึกถึงเสรีภาพของมนุษย์ ที่จะคิดที่จะฝัน เหมือนอย่างที่ชัชวาลย์ให้สัมภาษณ์ไว้ใน WRITER ฉบับที่ 30 “เลือดอีสาน”​ว่า:

สิ่งที่เราต่อสู้ สิ่งที่เราเขียนเพื่อแสดงออก เพื่ออะไร ใช่ประชาธิปไตยไหม? — ผมไม่ได้คิดถึงคํานี้เลยนะ มนุษย์ยิ่งใหญ่กว่าประชาธิปไตย สมมุติผมเขียนหนังสือไปทีละบท เขียนวิจารณ์เผด็จการรัฐประหาร มันไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ใช่ฝ่ายเสื้อแดง เสื้อเหลือง แต่คือความเป็นมนุษย์ที่เรายังเชื่ออยู่ว่าโลกควรจะเป็นอย่างนี้ ประชาธิปไตยโดยธรรมชาติต้องมีอยู่ ถ้าคุณมาล็อกให้ตาย ตรงนี้แหละคือปัญหาที่จะต้องคุยกัน ..​. ผมจะไม่ไปดิ้นรนตีโพยตีพาย ฟูมฟายกับเรื่องคําว่าประชาธิปไตยกับเผด็จการ แต่มันมีหลักของความเหมาะสมของเสรีภาพมนุษย์อยู่ (83)

ก็จริงอย่างที่เขาว่า ฉันเห็นว่าเสรีภาพมนุษย์ (และการงานของควาย) มีความสําคัญเหนือกว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ถ้าจะมองในแง่นี้ บรรทัดตัวหนังสือเหล่านี้ก็ประสบความสําเร็จงดงาม เหมือนทิวแถวกล้าข้าวที่ชาวนาปักดําด้วยสมองและสองมือ

แต่อีกระดับหนึ่ง เรื่องสั้นเหล่านี้ยังคงแปลกประหลาดอย่างไม่อาจลบได้ ถ้าจะเปรียบเป็นอาหารก็คงเป็นหญ้าเขียวที่จะต้องเคี้ยวเอื้อง กลืนแล้วคายออกมาเคี้ยวใหม่ เพราะภาษาที่ใช้เล่าเรื่องของคนต่างชาติพันธุ์เหล่านี้นั้นเป็นภาษาไทย ภาษาไทยที่เผยร่องรอยปะชุนจากภาษาของลาว จากภาษาของเรา เหมือนเรื่องเล่าในเรื่อง “ในประเทศของเขา” ที่คนเล่าเรื่องผู้หัดอ่าน-เขียนภาษาไทยเล่าว่า

เวลาที่เราพูดคําว่า ʻงัวʻ [วัว] เป็นคําว่า ʻโงʼ พูดคําว่า ʻหัวใจʼ เป็นคําว่า ʻโหเจ๋อʼ ออกเสียงคําว่า ʻหัวเข่าʼ เป็นคําว่า ʻโหโขยʼ เขาจะหัวเราะโยกตัวไปมา ยิ่งเวลาที่แปงถามว่า ʻสิไปไสʼ เขาจะแกล้งทํา หน้าล้อย้อนถาม ʻจะไปไหนʼ พร้อมกับหัวเราะราวกับว่ามันเป็นเรื่องที่ชวนให้สนุกขบขันเสียเต็มประดา (118)

และ

ท่านทั้งหลาย แม้ว่าภาษาในประเทศของเขาที่ว่านี้ ข้าพเจ้าจะเคยได้อ่านได้พูดอยู่บ้าง เมื่อครั้งเป็นเด็กนักเรียนตามกฎหมายกําหนด แต่ว่ามันไม่เข้าหัวเข้าลิ้น ครูนั่นก็เป็นคนในประเทศของเราไม่ใช่จากประเทศของเขา ดังนี้เอง ในหลายปีต่อมา หลังจากข้าพเจ้าได้สิ้นความพยายาม ที่จะรักและซาบซึ้งในภาษาประเทศของเขาแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเพราะมันไม่ใช่คําภาษาที่ออกมาจากสายเลือดและจิตวิญญาณที่แท้ของเรานั่นละ มันเป็นเพียงสําเนียงภาษาภายนอกที่โอบกลืนติดตามผิวเนื้อของเราอยู่อย่างฉาบฉวย เกาะอยู่เหมือนปลิงเหมือนทาก เหลือบสวะ เพียงเพื่อให้เป็นไปตามความมดเท็จ ฝันเฟื่องของบรรดานักชาตินิยมและกฎหมายฉบับล่าสุดเท่านั้นเอง (121)

ฉันอ่านถ้อยคําเหล่านี้ที่ประณามการปลูกถ่ายภาษาไทย แต่กลับถูกคัดลอกมาเป็นภาษาไทยที่สละสลวย (มีกึ่งอรรถาธิบายอย่างคําว่า [วัว] อีกโสดหนึ่ง) ก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนว่าสิ่งที่ฉันกําลังอ่านอยู่นั้นผ่านการคัดกรองมากี่ชั้น และคนเล่าเรื่องนี้จะเล่าให้ฉันฟังเพื่อการใดกัน มีหลายครั้งที่คําที่ดูเป็นอื่นจากภาษาไทยที่ฉันคุ้นเคยผุดโผล่ขึ้นมาในธารอักษร คําอย่าง “แม่หญิงผู้ไท” “เรือนผาป่าดอน” หรือแม้กระทั่ง “เญ็ด” ความสละสลวยที่ซ่อนแฝงไปด้วยความไม่ลงรอยทางภาษา เป็นประหนึ่งว่า ชัชวาลย์ได้แอบย่องเบาเข้าไปงัดแงะกรุเก็บความทรงจําของคนที่รัฐไทยไม่นับรวมเหล่านั้น แล้วถ่ายถอดมันออกมาเป็นภาษาต่างด้าว ไม่ใช่ภาษาของเรา แต่ก็ไม่ใช่ภาษาของเขาเสียทีเดียว

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ที่ทางของวรรณกรรมในภาษาไทยที่เขียนโดยคนลุ่มแม่น้ําโขง แม่น้ําชี แม่น้ํามูล หรือตามหัวเมืองในภาคอีสานของไทย อยู่ตรงไหน? ชัชวาลย์ โคตรสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์ต่ออีกเกี่ยวกับ “อีสานใหม่” ในปัจจุบันว่า

เรื่องของความเป็นลาว ความเป็นชาติพันธุ์ ไม่ได้ถูกนํามารับใช้ชีวิตเหมือนรุ่นผม ไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตที่เป็นจริง แต่เอามาพูดได้ แปรรูปได้ แปะไว้กับวาทกรรมอื่นๆ ได้ กับชีวิตประจําวันเอามาแปะได้ เช่นตอนนี้เราจะเห็นสติ๊กเกอร์ท้ายรถ ʻดีใจจัง คันหลังก็ลาวʼ แต่ก่อนเอามาพูดไม่ได้ นึกออกไหม ตอนนี่เอามาแปะไว้กับตรงไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ฮีตสิบสองคองสิบสี่ พวกผญา คําคม ศิลปะหมอลํา ถูกเอามารับใช้ยุคใหม่ เอามาแปรรูป นี่คืออีสานใหม่ ปัญหาก็คือถ้ามองในแง่วัฒนธรรมมหาชนกับวิถีชีวิตที่เป็นอีสานใหม่อย่างที่ว่า เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แต่เหมือนเขามีการศึกษา มีการเรียนรู้ ก็ไปหยิบมาทํา แพร่กระจายแล้วไปยึดโยงอยู่กับวัฒนธรรมมวลชน ป๊อปปูลาร์และการตลาด ..​. ​ผมว่าช่วง 20 ปีหลังมานี้ เป็นอีสานใหม่ ยึดโยงอยู่กับการตลาดและการแปรรูปให้เป็นสินค้า เป็นอัตลักษณ์แบบเปลือกนอก (80-81)

คําพูดนี้ทําให้ฉันนึกถึงตัวเอง ที่กําลังใช้ “ควายแดง”​ในฐานะสติ๊กเกอร์ท้ายรถ ที่จะเอามาแปะไว้กับหนังสือเล่มไหนก็ได้ ไม่ได้สนิทเนียนกับวิถีชีวิตของฉันอย่างแท้จริง เป็นอัตลักษณ์แบบเปลือกนอกที่ติดตามเนื้อตัวหนังสือของฉัน ถ้าไม่แปะป้ายไว้ ก็ไม่มีใครสํานึกรู้แม้แต่ตัวฉันเอง เป็นอัตลักษณ์ที่ต้องเพียรพูดซ้ํา เขียนซ้ํา จนกว่ามันจะกลายเป็นเนื้อในของเรา—ต่อไปนี้ควายแดงอย่างฉันที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างควายแดงจริงๆ จะทําอย่างไร?

 red_buffalo_sticker
ครบรอบ ๘ เดือนรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
Standard

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s