เมื่อสปิริตหลู่ซิ่นมากวนใจ

ประวัติจริงของอา Q / “หลู่ซิ่น” เขียน / “เดชะ บัญชาชัย” แปล

ช่างกวนใจเหลือหลายที่ฉันอ่าน “อมตนวนิยายแห่งจีนใหม่: ประวัติจริงของอา Q” ของหลู่ซิ่น ไม่เข้าหัว ไม่เข้าใจ รู้สึกกวนใจประหนึ่งว่ามีแมลงหวี่มาตอมก้นจนฉันต้องปัดหางหวือๆ เพราะเหตุนั้นฉันจึงอยากทอดน่องไปรอบๆ ตัวเรื่อง และเล็มเหล่าคำนำ-คำนิยม-คำสรรเสริญ ที่ีประกบหัวท้ายเรื่องในหนังสือฉบับภาษาไทยที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อราวหกสิบปีที่แล้ว ฉันสงสัยว่าทำไมคนเขาถึงได้ดื่มด่ำและเชิดชูเรื่องเล่าเรื่องนี้นัก —ใครกันเล่าที่เป็นคนเหล่านั้น ถ้าไม่ใช่นักประพันธ์-นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งยงถึง 4 ท่าน อันได้แก่ ทำนุ นวยุค, กุหลาบ สายประดิษฐ์, สุภา ศิริมานนท์, และสนาน วรพฤก!  โอ เพียงได้ยินชื่อก็รู้สึกมีวิญญาณของวีรชนล่องลอยอยู่รอบกาย โอ แมลงหวี่ทั้งสี่ ช่างกวนใจ! มาฟังเสียงพวกเขากันเถอะ

-1-

“ทำนุ นวยุค” ได้เขียนแนะนำหนังสือเล่มนี้ไว้ยาวหลายหน้ากระดาษในปี 2495/1952:

“หลู่ซิ่น นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ได้เขียนหัสนิยายเรื่อง “ประวัติจริงของอา Q” ไว้เมื่อ 30 ปีก่อนโน้น ด้วยมุ่งจะเปิดโปงให้เห็นปมด้อยแห่งชาติของจีนที่สืบเนื่องกันมาช้านาน เพื่อจะได้หลุดพ้นออกจากปลักแห่งความงมงายที่คิดแต่จะเอาชนะด้วยใจ, หาความสุขจากจินตนาการ  บัดนี้ ความคิดดังกล่าวได้หายไปจากเมืองจีนแทบหมดสิ้นแล้ว แต่ยังล่องลอยอยู่ตามที่อื่นๆ ทั่วไป แม้ที่ข้างบ้านของท่าน…หรือบางทีใกล้กว่านั้น” (17-18)

[ฉันสะดุ้งเล็กน้อยที่ทำนุรู้สึกมั่นใจพอจะบอกว่า ความคิดงมงายได้หายไปจากเมืองจีนแทบหมดสิ้นแล้ว การปฏิวัติมันช่างดูยิ่งใหญ่และเบ็ดเสร็จอย่างที่เราไม่อาจจินตนาการได้อีกแล้ววันนี้]

“สาระอันสำคัญยิ่งของเรื่อง “ประวัติจริงของอา Q” นั้น . . . หลู่ซิ่นต้องการจะวาดภาพคนจีนสมัยนั้น ต้องการกำจัดความคิดที่ “เอาชนะคนอื่นทางใจ” ซึ่งเป็นเนื้อร้ายที่งอกในสมองของคนจีน (หรืออาจจะคนชาติอื่นด้วย) ให้หายขาดไป ฉะนี้จึงมีผู้วิจารณ์ว่า อา Q นั้นมิใช่แบบ (Type) ของบุคลิก (Character) แต่เป็นการแสดงออกของสปิริตอย่างหนึ่งซึ่งเป็นนามธรรม มองไม่เห็น ให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของรูปธรรมที่มีตัวมีตน สปิริตอา Q นี้สิงอยู่ในทุกชนชั้น ไม่ใช่เฉพาะในตัวอา Q ซึ่งเป็นชนชั้นกรรมาชีพในชนบท” (20)

“สปิริตอา Q เปรียบเสมือนมอร์ฟีนที่คนผู้น่าสงสารนำไปเสพติด ด้วยหวังจะบำบัดความทุกข์ของตัว และในบางครั้งก็ถูกหลอกหรือบังคับให้กิน” (22)

[ถ้า “สปิริตอา Q” เป็นเสมือนยามอร์ฟีนที่ผู้ถูกกดขี่เสพติด แล้ว “สปิริตหลู่ซิ่น” ตามที่ทำนุเข้าใจ จะเป็นยาประเภทไหนกัน? ถ้าเป็นยาที่ทำให้คนเรา “ตาสว่าง”​จากอาการหลงผิด “จิตนิยม” อย่างที่เรียกกันแล้ว อาการที่ว่านี้จะเป็นอาการหลงงมงายใน “นโยบายขายฝัน” ของพ่อทักษิณ หรือจะเป็นอาการหลงผิดคิดว่าพ่อไทยไม่เหมือนใครในโลกของ “มวลมหาประชาชน” กันนะ? ทำนุบอกว่า “สปิริตอา Q” สิงอยู่ในทุกชนชั้น แต่ทำไมนิยายเรื่องนี้จึงต้องให้มันสิงอยู่ในตัวละครชนชั้นกรรมาชีพในชนบทด้วยเล่า? ถ้าคนกรรมาชีพในชนบทมาอ่านแล้วเกิดสมเพชในตัวอา Q เขาก็จะตื่นรู้พอจะไล่ปีศาจตนนี้ออกไปเช่นนั้นหรือ?]

-2-

“สรง พฤกษพร” (สนาน วรพฤก) ในบทความ ““หลู่ซิ่น” และความคิดของหลู่ซิ่น” กล่าวไว้ว่า:

“[หลู่ซิ่น]มักกล่าวเสมอว่าเขา “ชิงชังอย่างที่สุด” ที่มีผู้กล่าวว่า นวนิยาย เป็น “เรื่องอ่านเล่น” เขาโจมตีพวกที่ถือคติ “ศิลปเพื่อศิลป” อยู่เสมอ เพราะเขาถือว่า “ศิลปต้องเพื่อชีวิต”

“อุดมคติอันนี้แหละ ที่หนุนให้หลู่ซิ่นกลายเป็นนักเขียนฝ่าย Realist ผู้เก่งกล้า,​เป็นนักเขียนของประชาราษฎร์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นนักเขียนคนแรกของจีนที่เข้าใจแจ่มแจ้งในความทุกข์และความต้องการของมหาชน มีความรู้สึกกลมกลืนอยู่กับความรู้สึกของมหาชน, เป็นปากเสียงตัวแทนของมหาชน และดิ้นรนต่อสู้ร่วมกับมหาชน” (125-126)

[การเข้าใจในความทุกข์และความต้องการของ “มหาชน” ที่สนาน วรพฤก พูดถึง นี่จะนับเป็นประชานิยมได้หรือเปล่าหนอ? หากเป็นได้ ฉันก็สงสัยเป็นที่สุดว่าทำไมตัวละครทั้งหลายในเรื่อง “ประวัติจริงของอา Q” นั้นไม่มีใครน่านิยมเลย ไม่มีใครในเรื่องนี้ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวแทนของมหาชนในสังคมปฏิวัติได้เลย ฉันสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นแล้ว “มหาชน” ที่หลู่ซิ่นเป็นปากเสียงและตัวแทนนั้น เหตุไฉนจึงยังไม่มาปรากฏตัวใน “อมตนวนิยาย” ที่เล่าเรื่องของสามัญชนเรื่องนี้? หรือจะเป็นอย่างที่ทำนุได้เขียนบอกไว้ว่า ในการปฏิวัติซิ่งไฮ่ที่ล้มราชวงศ์เช็งเมื่อปี 1911 นั้น “ประชาชนยังนอนหลับอยู่ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่” (18)? หรือถ้าหากเรื่องนี้เป็น “หัสนิยาย” อย่างที่จิตรบอกไว้ ผู้อ่านจะหัวเราะให้เรื่องของอา Q เพื่อการใด?]

-3-

แล้ว “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) เล่า เขาว่าอย่างไร? ในคำนำ “วรรณคดีใหม่ของจีน”​เขาเขียนไว้ว่า:

“วรรณคดีใหม่คือวรรณคดีของมหาชน เป็นวรรณคดีที่เสนอความเป็นจริงในชีวิตของมหาชน เพื่อส่งเสริมชีวิตที่ดีขึ้นของมหาชน เพื่อความไพบูลย์และความงามแห่งชีวิตแห่งมหาชน อันเป็นการตรงกันข้ามกับความสนใจของวรรณคดีเก่าที่เสนอภาพชีวิตของชนชั้นสูงและชนชั้นที่มั่งคั่งที่มีอยู่เพียงหยิบมือหนึ่ง และก็เป็นการเสนอเพื่อเชิดชูสถานะของผู้กดขี่เพียงหยิบมือหนึ่งนั้นให้ดำรงคงอยู่ตลอดกาล” (13-14)

[พูดถึงความใหม่ เดี๋ยวนี้ “วรรณคดีใหม่” ที่ว่ากลายเป็นของล้าสมัยไปเสียแล้ว แต่อันที่จริง กว่าที่หลู่ซิ่นจะมาเป็นที่นิยมสูงสุดในหมู่นักศึกษา-ประชาชนยุค 14 ตุลาคม 2516/1973 หนังสือเล่มนี้ก็กลายเป็นของคลาสสิก เป็น “อมตนวนิยาย” ที่มีอายุเป็นครึ่งศตวรรษแล้ว]

-4-

สุภา ศิริมานนท์ ผู้เขียนคำนำสมัยรวมเล่มครั้งแรกปี 2500/1957 คัดลอกจดหมายของ “เดชะ บัญชาชัย” (เดโช บุญชูช่วย) ผู้แปล มาลงไว้:

“…ผมทราบเจตนารมณ์ของผู้พิมพ์ดี จากคำนำที่คุณเขียน และจากทางอื่นๆ บ้าง จนขณะนี้ผมมีความพอใจที่สุดแล้วที่เรื่องนี้มีคนสนใจกันพอสมควร ผิดกับเมื่อตอนลงพิมพ์ในหนังสือ อักษรสา์สน และถ้าจะเทียบเวลาที่หลู่ซิ่นเขียนนับย้อนหลังไปก็หลายสิบปีทีเดียว รู้สึกว่าเราตื่นกันช้าเหลือเกินสำหรับเรื่องวรรณคดีของสามัญชน” (8)

[ฉันได้ยินเสมอมา ที่คนพูดกันว่า ประชาชนยังไม่พร้อม ได้ยินบ่อยพอๆ กับที่คนพูดกันว่า ประชาชนตื่นตัวแล้ว ฟังบ่อยเข้ามันก็ทะลุออกหูขวา จนเลิกสนใจ เพราะทุกวันฉันก็ตื่น พอกลางคืนฉันก็หลับ บางวันตื่นเช้า บางวันตื่นช้า บางวันตื่นตัว แต่ก็ตื่นทุกวันมาตั้งแต่จำความได้แล้ว แต่ก็ยังไม่วายได้ยิน “ทำนุ นวยุค” ร้องเรียกมาอีกว่า “ตื่นเถิด! อา Q ทั้งหลาย!” (22)]

-5-

ชัดเจนว่านักประพันธ์-นักหนังสือพิมพ์เหล่านี้เชื่อเช่นเดียวกับหลู่ซิ่นว่าศิลปะต้องรับใช้ชีวิต แต่การที่พวกเขาสรรเสริญ “ประวัติจริงของอา Q” ในฐานะวรรณคดีที่ Realist (สัจจะนิยม) เสียจนสิ้นสภาพการเป็นมายาคติ ชักทำให้ฉันไม่ค่อยแน่ใจว่า “สปิริต” (วิญญาณ/ปีศาจ) ของพวกเขามาปลุกระดมใคร หรือปลุกปลอบใครในโลกของฉันบ้าง มาเข้าฝันใคร หรือเข้าสิงใครในโลกของฉันบ้าง ฉันไม่แน่ใจว่าเรายังตื่นอยู่ในโลกใบเดียวกันหรือหลับฝันอยู่ในโลกคนละใบ… คิดไปคิดมาควายแดงอย่างฉันชักจะง่วง ไม่รู้จะคิดไปทำไม เอาละ ในฐานะที่ฉันเป็นพวกที่ชอบหาความสุขจากการคิดฝันจินตนาการ ฉันก็ได้คิดว่าอย่างน้อยที่สุด การได้สนทนากับวิญญาณของผู้ยิ่งยงทั้งสี่ก็ทำให้ฉันนอนหลับตาพริ้มยิ้มสบาย ไม่มีแมลงหวี่มารบกวน.

Standard

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s