สุสานหิ่งห้อย: ก่อนความหมายจะหายลับ

Image

We shall not cease from exploration
And the end of all our exploring
Will be to arrive where we started
And know the place for the first time.

—T.S. Eliot, “Little Gidding”

อ่าน: สมุด ทีทรรศน์, ก่อนความหมายจะหายลับ, กลุ่มพิมพ์ 2556

เรื่องสั้นอันบางเบาและหลอกหลอนแต่ละเรื่องมีร่องรอยของ “เค้าเงื่อนของอุดมการณ์บางอย่าง” (68) อุดมการณ์บางอย่างที่กลายเป็นซากปรักหักพัง กลับมาหลอกหลอนคนเป็น และยังอยู่ต่อไปในความทรงจำถึงคนตาย

ความตายและความเป็นขมวดปมจบในเรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย เรื่องสั้นที่เข้าถึงใจฉันมากที่สุด และฉันรู้สึกพบคนที่เป็นคล้ายฉัน คนตายที่เป็นคล้ายฉัน

เพียงแต่คนนั้นเป็นคนตาย ที่เรื่องเล่าของเขาฟื้นคืนชีพขึ้นมาบนหน้ากระดาษ

บางทีหัวใจฉันก็ไม่ต่างจากหัวใจของคนตาย ที่มีชีวิตมากที่สุดก็ต่อเมื่อพบกับหัวใจของคนตายอีกคน

แล้วเราก็ฟื้นคืนชีพกันและกัน

ฉันฟื้นคืนชีพเขาด้วยการอ่าน ด้วยการฟังเสียงของคนเล่าเรื่อง ที่ฟังเรื่องเล่าหลายต่อหลายเรื่องจากเขาก่อนที่เขาจะตาย

เขาฟื้นคืนชีพของฉันด้วยเรื่องราวการรอนแรมเพ้อไข้ของเขา…

เขาจึงตัดสินใจเปิดประตูออกกว้างและตะโกนถามไปสุดเสียง แต่ก็พบเพียงความเงียบ เมื่อก้าวออกไปพ้นขอบประตูเท่านั้น เหมือนร่างของเขาพลัดตกจากที่สูง ลงไปในอากาศแห่งราตรีกาล แล้วก็ถึงพื้นดิน บนทางแยกมากมายพุ่งออกไปคนละทิศทาง ดูเหมือนจะมีมากมายนับไม่ถ้วนลึกไปในความมืด เขาตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกไปทางใด ในระหว่างที่ลังเลอยู่นั้นเองก็มีแสงเรืองๆ ขึ้นที่ปลายทางหนึ่ง แสงนั้นสะท้อนวาววามแยงตาเขาอยู่เป็นระยะ เหมือนใครจงใจจะให้สัญญาณอะไรบางอย่าง เขาจึงตัดสินใจก้าวไปตามทางนั้น

เป็นช่วงเวลาที่เนิ่นยาวเหมือนการเดินทางนั้นจะไกลเสียยิ่งกว่าโลกถึงดวงดาว เขาร้องไห้ออกมาและบางครั้งก็หัวเราะในทันที เหมือนทารกที่กำลังคลานออกมาจากแม่น้ำสายใหญ่ แล้วก็เห็นพ่อกับแม่ยืนอยู่ที่ริมฝั่ง เมื่อคลานเข้าไปใกล้ ก็กลับกลายเป็นฝูงนกสีดำนับไม่ถ้วนตัว เขาเข้าไปจับมันมาได้ตัวหนึ่ง แต่มันก็แตกออกเป็นดวงดาวระยิบตา เขาปืนลงจากต้นไม้เหมือนลิงป่าที่พยายามจะเดินด้วยขาทั้งสองข้าง มือยังไขว่คว้าเพื่อการทรงตัว แล้วก็ล้มลงนอนอยู่บนพื้น ซบหน้ากับฝ่ามือแล้วก็ครวญคราง เมื่อหงายร่างขึ้นมองท้องฟ้า หายใจออกมาเป็นละอองไอ แล้วก็หัวเราะออกมา เขาบอกกับตัวเองว่าเขาเป็นใคร และตัวใหญ่ขึ้นแทบจะไม่มีที่เหยียบเดิน สภาวะแปรเปลี่ยนไป จนในที่สุดเขาก็เดินกลับมาอยู่ที่หน้าประตูห้องของตัวเอง เมื่อแง้มออกดูเข้าไปภายในห้อง ก็พบเข้ากับแสงนั้น เมื่อเดินเข้าไปใกล้เขาก็เห็นว่ามันคือหิ่งห้อยตัวหนึ่งเกาะอยู่บนที่นอนของเขา เขาบอกกับข้าพเจ้าหลายครั้งอย่างคนละเมอว่า สิ่งที่เขาพบคือหิ่งห้อยตัวหนึ่ง… (100-101)

แสงหิ่งห้อยริบหรี่เพียงใด แต่ก็ยังมีให้เห็น แสงหิ่งห้อยที่นำทางเรากลับไปสู่จุดที่เราจากมา

กลับมาสู่บ้าน สู่พ่อ สู่แม่

แต่ไม่ใช่พ่อแม่ลูกในแบบของจิตวิเคราะห์ ฆ่าพ่อล่อแม่เพื่อกำราบตัวตน ไม่ใช่

หากแม่เองก็สลายกลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิงสาราสัตว์รอบบ้าน เสียงงูเลื้อยและแมลงปอกระดิกปีก “ถ้าคิดถึงแม่ก็ให้เงี่ยหูฟังเสียงสัตว์ต่างๆ รอบตัว” (100)

พ่อที่หายไป อาจทำให้ลูกชายเดินตามหา

ตามหาหนทางของตัวเอง ไม่ได้ตามหาพ่อ

ตามหาอุดมการณ์บางอย่าง เชิดหน้าอยู่กับความเชื่อบางอย่าง ลุ่มหลงมัวเมากับบางอย่าง

เพื่อให้คนที่เหลือตามล่า

และสุดท้ายผู้ตามล่าเองจะกลายเป็นผู้ถูกไล่ล่า

ด้วยวิญญาณของอดีตเหล่านั้น

ขณะที่ผู้ตามหาแก่ตัว ร่างกายกึ่งผีกึ่งคน

ราวกับท่าของแมงมุมที่นอนนิ่งตายบนใยของตัวเอง

หากแววตายังฉายชัดถึงบางอย่าง

“ยายแก่ที่นอนคว่ำหน้าพ่นลมหายใจแรงที่สุดเท่าที่ยังมีลมหายใจมาตลอดสองวันนี้
ในความมืดมิดที่ซ่อนใบหน้าเธอไว้นั้นมีประกาย” (89)

ฝ้าฟางไปแล้ว มืดดับลงแล้ว

เหมือนจะตายแล้ว

แต่สุดท้ายก็จะกลายเป็นแสงเรื่อเรืองของหิ่งห้อย…

เมื่อหิ่งห้อยตายจาก ฉันก็คงจะกลายเป็นหิ่งห้อยตัวต่อไป

เมื่อหิ่งห้อยกลับมามีชีวิตบนหน้ากระดาษ ชั่วขณะนั้น ความเป็นและความตายก็กลายเป็นหนึ่งเดียว

Standard

มนุษย์โลกันตร์

ลือกันว่าคือทางแยกสู่ดินแดนโดดเดี่ยว เพียงยื่นเท้าสัมผัสจะมีสภาพราวถูกปล่อยเกาะ เสียงวางอำนาจจากปีศาจสาธารณ์ เตือนว่าอย่าใกล้กราย…  —ประกาย ปรัชญา

ข้าลืมตามาพบความมืดมิด –ไม่เหมือนความมืดอย่างเมื่อลืมตาบนเตียงนอนกลางดึก ที่เพียงเอื้อมมือก็อาจเปิดโคมไฟหัวเตียง หรือไม่อย่างนั้นหากจดสายตาไว้ที่เพดาน เส้นแสงพร่าเลือนก็จะค่อยปรากฏขึ้นมาเอง– ข้าลืมตามาพบความมืดมิดและเหน็บหนาว ไม่เห็นสิ่งใดรอบตัว ไม่เห็นแม้แต่ตัวของข้า ไม่รู้ว่าข้าอยู่ที่ใด คล้ายมีเสียงร้องโหยหวนไกลออกไป เสียงร้องเหมือนลมหนาวอื้ออึงบนท้องฟ้า เสียงร้องที่ดังมาจากท้องฟ้า ข้าขยับแขนทั้งสอง ทันใดข้ารู้สึกลื่นไถลหมุนคว้าง ร่างของข้าปะทะลมหนาวจมไปในความหนาวเย็นยิ่งกว่า ผืนน้ำหนาวเย็นที่กัดกร่อนองคาพยพของข้าทันควัน เสียงซ่าของกรดกัดกร่อน ความเจ็บแสบแล่นไปทั่วทั้งประสาทความรู้สึก กัดกินเข้าไปทุกขณะ คล้ายได้ยินเสียงเยื่อแก้วแตกสลาย ในท่ามกลางการย่อยสลายสำนึกรู้ของข้ากลับเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ สำนึกรู้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ด้วยความเจ็บแสบ

คล้ายชั่วกัปกัลป์ แต่ในที่สุดข้าก็ลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง ข้าเผยอแขนข้างหนึ่งเข้ามาสัมผัสใบหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าข้ายังมีใบหน้าและดวงตาอยู่จริงๆ โอ นั่นใช่น้ำตาของข้าหรือเปล่า ช่างมืดจนไม่เห็นแม้ไออุ่นของลมหายใจ หนาวจนน้ำตาที่เอ่อไหลไม่มีโอกาสได้ริน หากมีอากาศอยู่ที่นี่ ข้าไม่แน่ใจแล้วว่านี่คืออวกาศหรือสุญญากาศ ข้าปัดเอาน้ำตาที่จับตัวแข็ง รู้สึกถึงกรงเล็บที่แหลมยาวกรีดลงไปบนแก้มตอบติดกะโหลกของข้า โอ ข้ายังเป็นข้าอยู่หรือเปล่าเมื่อไม่มีใครอาจเห็นข้า และข้าไม่รู้ว่าข้ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไรอีกต่อไป ในดินแดนมืดมิดหนาวเย็น ข้าหลับตาเห็นความมืดมิดสุดขอบจักรวาล

สุรเสียงหนึ่งหวนก้องในสำนึก เสียงทุ้มลุ่มลึกของภิกษุเทศนาถึงนรกภูมิ สี่ร้อยห้าสิบหกขุม ลึกสุดคือเวจีมหานรก ร้อนฉ่าแม้เซรามิกยังหลอมละลาย ยิ่งลึกยิ่งรุ่มร้อน กาลเวลายิ่งเนิบช้า ทัณฑ์ทรมานยาวนานราวไม่มีกำหนด หากยังมีนรกอีกแห่งที่ลึกลงไปกว่า เนิบช้าและยาวนานยิ่งกว่า เป็นนรกอันเหน็บหนาว เหน็บหนาวและมืดสนิท นรกขุมนี้เรียกว่าโลกันตนรก ตั้งอยู่หว่างขอบเขาจักรวาล ดินแดนที่แสงสว่างส่องไปไม่ถึง สัตว์ประหลาดตัวมหึมารอนแรมอดโซโดดเดี่ยว วันดีคืนดีมันจะพลัดตกลงไปในหุบเหวทะเลน้ำกรด กัดกร่อนสัตว์นรกจนเหลือเพียงกระดูก แล้วไม่ช้ามันก็จะกลายกลับเป็นตัวห้อยหัวอยู่กับขอบผาอยู่เหมือนเดิม. . .

ใช่แล้ว หรือข้ากำลังห้อยหัวอยู่ ข้าเอื้อมแขนยากเย็นไล่ไปบนร่างแห้งผอมจากลอนคลื่นซี่โครงขึ้นไปถึงท่อนขาและปลายเล็บเท้ายาวเฟื้อย เกี่ยวกระหวัดเพดานหินไว้มั่น สุรเสียงภิกษุยังก้องกังวานต่อเนื่อง สัตว์ประหลาดห้อยหัวรอนแรมอย่างค้างคาวอย่างนั้น นึกว่าไม่มีใครอื่นอยู่ นานทีปีหนมันถึงจะพบสัตว์ประหลาดอีกตัว ความหิวโซนำพาให้นึกไปว่าเป็นอาหาร จึงจัดการถลกหนังถลุงเนื้อมาสวาปาม อีกตัวเล่าก็ทำอย่างเดียวกัน หากไม่ระวังแล้วก็ย่อมจะพลัดตกลงไปในทะเลน้ำกรดอีก ต่างทุกข์ทรมานเช่นนี้นานนับพุทธันดรในความมืดมิด จะบังเกิดวาบแสงเจิดจ้าก็แต่เฉพาะเมื่อมีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งจุติลงมายังโลกมนุษย์เท่านั้น นั่นแหละโยมเอ๋ย

ข้าคงต้องรอพระศรีอาริยเมตไตย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ข้าคงต้องรอพระศรีอาริย์มาจุติยังโลก เพื่อข้าจะได้เห็นว่ารูปร่างของข้าเป็นเช่นไร จะได้เห็นว่าที่นี่เป็นอย่างไร ถ้าที่นี่เป็นโลกันตนรกอย่างที่เขาว่า เขาเสี้ยมสอนข้าเสมอด้วยคำว่าจะเชื่อตอนเป็นหรือจะไปเห็นตอนตาย ข้าขยับร่างกายระมัดระวังออกสำรวจดินแดนโดดเดี่ยว ขาทั้งสองไต่ไปบนผนังหินผา เสียงคลื่นกรดกระทบโขดหินซ่าซ่า แทรกผสานเข้ากับเสียงกรดในท้องกัดกินผนังกระเพาะ . . .

(มีต่อ)

Standard

ฉันมีเจตจำนงเสรีที่จะไม่อ่าน “เรื่องเล่าในโลกลวงตา” (และเรื่องเล่าใดๆ) ตามเจตนาของคณะบรรณาธิการ (และของผู้เขียน)

เคราะห์ดีที่ฉันอ่านนวนิยาย ​“เรื่องเล่าในโลกลวงตา” ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ จนจบเล่มก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่านคำบอกกล่าวจากคณะบรรณาธิการ (ที่ดันแผ่หราอยู่ปกหลังหนังสือด้วย) และคำนำจากผู้เขียน

…คำบอกกล่าวที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวนิยายเลย

ท่านที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ควายแดงเดียวดายอย่างฉันขอแสดงความเสียใจ ที่ท่านจะได้และเล็มบทบรรณาธิการก่อนตัวนิยาย

เจตนาสำคัญในการผลิตชุดนวนิยายทั้ง 9 เรื่องนี้คือ เราต้องการ ‘เรื่องเล่า’ เกี่ยวกับท้องถิ่นใน พ.ศ.ปัจจุบัน บันทึกให้ผู้คนร่วมสมัยเก็บไว้เป็นหลักฐาน และเผื่อไว้ถึงลูกหลานในอนาคต . . .

     อย่างที่บอก…เจตนาเบื้องต้นของเราคือต้องการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นว่า ถึงนาทีปัจจุบันมันได้เคลื่อนไปจากพล็อตเรื่องเดิมเมื่อกึ่งศตวรรษก่อนเพียงใด

     แต่หากผู้อ่านท่านใด สามารถสัมผัสได้ถึงความหวัง และบังเกิดจินตนาการที่จะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ ‘บ้าน’ หรือ ‘ชุมชน’ ที่ตนเองสังกัดมีระดับคุณภาพชีวิตและจิตใจที่สูงขึ้น…นั่นย่อมถือเป็นกุศลสูงสุดในการทำงานครั้งนี้

นั่นเป็นถ้อยคำของคณะบรรณาธิการ ที่ฉันสันนิษฐานว่าคงได้ ctrl+c และ ctrl+v ไปใส่คำนำหนังสือเล่มอื่นในโครงการ “ชุดวรรณกรรมจากการสัมผัสเรียนรู้ท้องถิ่น พ.ศ. ปัจจุบัน” (ตามปก) อย่างไร้รอยต่อ

Image

(ฉันโชคดีจริงๆ ที่สุ่มหยิบซื้อหนังสือเล่มนี้ ตอนแรกจะซื้ออีกเล่มนึงของนักเขียนเรืองนามที่ได้รับรางวัลซีไร้มั้ง แต่ถือคติ “ให้โอกาสนักเขียนที่ไม่เคยอ่าน” ก็เลยเลือกเล่มนี้ คนเขียนชื่อเพราะดี ยังไม่ได้อ่านปกหลังด้วยซ้ำ แค่ผ่านตาคำว่า “ท้องถิ่น” “ชนบท” อะไรบางอย่างในตัวฉันก็กำเริบเสิบสานให้ซื้อทันที)

ฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อคณะบรรณาธิการ ที่ฉันปฏิเสธที่จะอ่านนิยายเรื่องนี้ในฐานะเรื่องเล่าของ “ชนบท” ในนาทีปัจจุบัน

เพราะถ้าฉันอ่านมันเช่นนั้น ใจความสำคัญของนิยายเล่มนี้คงจะอยู่แถวๆ เจ็ดหน้าสุดท้าย ที่มีประโยคอย่าง “ป่าใหญ่แต่ครั้งอดีตเตียนโล่งจากการสัมปทานป่าไม้” ไม่ต้องอารัมภบทเป็นร้อยหน้าก็ได้

ถ้าฉันอ่านมันเช่นนั้น ฉันคงจะหงุดหงิดไม่น้อยเมื่อพบว่าเนื้อหาเกือบทั้งหมดของนวนิยายแทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับ “ท้องถิ่น พ.ศ. ปัจจุบัน” (ยกเว้นเจ็ดหน้าสุดท้าย) เนื่องจากมันเล่าเรื่องอดีตอันไกลโพ้น ทั้งยังไม่ได้พูดถึง “การเปลี่ยนแปลง” (ยกเว้นเจ็ดหน้าสุดท้าย) เนื่องจากมันพูดถึงการเดินทางแห่งตัวตนของปัจเจกชนชาวป่าคนหนึ่ง
อย่างดีที่สุดก็คงอ่านได้อารมณ์ประมาณว่า “โหย แต่ก่อนชนบทในป่าเนี่ยมีอาถรรพ์ลึกลับน่าค้นหาเยอะจัง เดี๋ยวนี้ทุนนิยมมารุกรานสิ่งดีงามเหล่านี้ไปหมด เราไปช่วยกันทำสวนสมุนไพรดีกว่า”

กระนั้นก็ตาม,
ฉันชอบนิยายเรื่องนี้มาก เป็นเรื่องเล่าที่เล่าได้หมดจด
เรื่องเล่าของชายผู้สูญเสียคนรักไปด้วยพิษงูจนคลั่งแค้น ตั้งปณิธานว่าจะล้างเผ่าพันธุ์อสรพิษให้หมดสิ้นไปจากโลก จะเดินทางไปยังบึงลึกลับในป่าดงดิบเพื่อบั่นคอสิบคนโอบรอบของพญานาค เรื่องนี้เล่าผ่านร่างกายและสำนึกของตัวเอกเอง
เมื่ออ่านจบแล้ว ฉันนอนคิดว่าทำไมถึงชอบเรื่องนี้

 นอกจากความงามของภาษากวีที่ชวนให้เราอ่านช้าช้า เห็นภาพและกระแสสำนึกตามไปด้วย บางครั้งชวนให้เราหยุดอ่าน –ไม่ใช่เพราะเบื่อ– แต่เพื่อพัดพาใจให้นึกถึงความทรงจำใกล้ไกลที่เชื่อมร้อยกับถ้อยคำนั้นแล้ว

 ฉันพบว่า ฉันอ่านและดื่มด่ำกับเรื่องนี้ในฐานะปรัชญานิยาย

 มากกว่าเรื่องใดอื่น นิยายทำให้ฉันครุ่นคิดเรื่องเจตจำนงเสรี หรือ free will
(ซึ่งควายแดงอย่างฉันขอสารภาพว่าอ่านสรุปข้อถกเถียงทางปรัชญาเรื่องนี้ไม่ค่อยเข้าใจนัก)
ว่าด้วยเรื่องคนเราทำสิ่งต่างๆ โดยมีแรงของเจตจำนงเป็นตัวบงการหรือไม่ หรือว่าที่แท้มีบัญชาจากสรวงสวรรค์ หรือเป็นฮอร์โมนและสัญชาตญาณที่บงการเรา

กระแสความคิดคุ้มคลั่งของตัวเอกถูกเล่าอย่างหมดจด ในวังวนสับสนของเขา คำถามที่มักปรากฏในใจคือ ภารกิจปราบงูของเขานั้นชอบธรรมแล้วหรือ

ความเป็นจริงที่ปรากฏเป็นภาพฉายซ้ำๆ ก็คือ น้องสาวและคนรักของเขาตาย “ร่างเขียวคล้ำฉ่ำเมือกพิษงู”
เรื่องเล่านี้จึงดำเนินไปได้ด้วยแรงแค้น

แต่ใครกันทำให้คนรักของเขาตาย หรือความคลั่งแค้นนั้นเป็นเพียงสิ่งลวงตาที่ไม่มีจุดหมายใด?
หากเรายอมรับ “กฎธรรมชาติ” ของสรรพสิ่ง อย่างคนรักตายด้วยพิษงู ก็เป็นกฎธรรมชาติ เธอดุ่มเดินไปในอาณาเขตของงูโดยไม่ได้ระแวดระวัง งูที่ไร้สำนึกจึงกัดเธอ
หากเรายอมรับอย่างนั้น เราจะยังมีปณิธานแรงกล้าเพื่อแก้แค้นเอาคืนอย่างไร

ถ้าเรายังมี เราจะแก้แค้นเอาคืนใคร? ถ้าล้างเลือดงูทั้งโลกเซ่นวิญญาณคนรักแล้วมันจะจบไหม
หรือเพราะพระเจ้าจำนงให้คนรักของเราตาย เราจึงควรแก้แค้นพระเจ้าแทน
หรือเพราะพระเจ้าทำเช่นนั้นเพื่อมอบหมายให้เราทำภารกิจบางอย่าง จึงควรยึดเอาเทพเจ้าเป็นที่พึ่ง
หรือถ้าไม่มีพระเจ้า ใครคือผู้บงการชะตากรรม

 และถึงที่สุด ในเมื่อเรามนุษย์ปุถุชนไม่อาจรู้อภิปรัชญาของสรรพสิ่ง ไม่อาจรู้ความจริงของชีวิต เราจะมีอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยว
นิยายนี้ได้ให้คำตอบว่า ถ้าไม่คิดพ้นทุกข์ ก็จงยึดเหนี่ยวไว้ซึ่งความงาม
ความงามของการตกผลึกประสบการณ์
ในโลกที่ลื่นหลุดมือเราไป สิ่งที่เกิดแก่เราไม่อาจควบคุมได้ แท้แล้วเราไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรลวง
แต่เรามีความคิดของเราที่เป็นจริงที่สุด
และความคิดนี้เป็นผลจากเจตจำนงเสรีของเราเอง

 ในฉากฝันอัศจรรย์ ที่ตัวเอกควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ หากก็ทำให้เขาได้เข้าถึงสัจธรรมบางอย่างที่ทำให้เขา “คิดได้” คลี่คลายความแค้น เขาบอกว่า
“ไม่ว่าสิ่งที่สัมผัสจะเป็นจริงหรือมายา แต่ผลของมันที่ทิ้งค้างอยู่ในความคิดคือความจริง” (108-109)

 ถ้อยคำความคิดที่ยกมาเหล่านี้ไม่ได้ถูกกล่าวขึ้นมาลอยๆ แบบพุ้ยปรัชญา แต่เป็นห้วงคำนึงที่มีเนื้อหนังฝังแน่นในเรื่องราวแห่งความแค้น (ตามสัญชาตญาณ?) และการให้อภัย (ด้วยเจตจำนงเสรี?)

 แต่ก็นั่นก็อาจเป็นเพียงกระแสสำนึกของตัวเอก

 เมื่อฉันคิดดูอีกทีแล้ว ตัวเอกมีเจตจำนงเสรีแน่หรือ ไม่ใช่ว่าความจริงจริงๆ น่ะเขาถูก “กำหนด” ให้ “หลุดพ้น” หรือ?

 “กำหนด” กันตั้งแต่ในเรื่องเล่า ก็ในเมื่อความฝันที่นำเขาสู่สัจธรรมนั้น เป็นฝันที่บุรุษศักดิ์สิทธิ์ผู้ทำให้เขาเดินตามต้อยๆ ด้วย “ตกในภวังค์” บอกว่า “อย่างที่ว่านั่นแหละ ทุกสิ่งเป็นไปได้อย่างใจเจ้าคิด เจ้าเห็นเป็นเช่นไร โลกก็เป็นเช่นนั้น นอนเสียก่อนเถิด เรายังเหลือเวลาอยู่เรียนรู้โลกกันอีกนาน” (92) และแล้วเขาก็ก้าวล่วงสู่ฝันอัศจรรย์ ราวกับฝันนั้นถูกกำหนดโดยใครอื่น เพื่อให้ตัวเอกเรียนรู้อะไรบางอย่าง เมื่อฝันจบแล้ว บุรุษผู้เดิมก็บอกว่า “ตอนนี้ดวงใจเจ้า กว้างใหญ่ราวฟากฟ้า เพียงพอบรรจุทุกสิ่งลงไปไว้ในนั้น” และ “เมื่อเจ้าปลดพันธนาการออกไปได้ ดวงใจก็จะมีอิสระ . . .” (119)

 ฉันอ่านแล้วก็เกิดสะกิดใจว่า ตกลงนี่มันโปรแกรมปฏิบัติธรรมหรือเปล่าวะ?

 เหนือนั้นขึ้นไปอีกก็ “กำหนด” กันในระดับพล็อตเรื่อง อาจทึกทักได้ว่าเป็นเจตนาของผู้แต่ง ที่วางพล็อตเรื่องเริ่มจากความแค้นไปสู่การให้อภัย โดยใช้การออกมาจากวังวนความแค้นเป็นจุดคลี่คลาย เพื่อส่ง “สาร” หรือ “รหัสศีลธรรม” บางอย่างถึงผู้อ่านอย่างแยบยล ผู้อ่านจะได้คล้อยตามโปรแกรมปฏิบัติธรรมของตัวเอก และเชื่อตามไปด้วยว่ากระแสความคิดของตัวเอกที่เป็น “บัวพ้นน้ำ” นั้นเป็นเจตจำนงเสรี

เหนือนั้นขึ้นไปอีกก็ “กำหนด” กันในระดับหนังสือที่อยู่รายรอบตัวเรื่อง (paratext) ฉันยังแปลกใจไม่หายที่ปกหนังสือเล่มนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเนื้อเรื่องของนิยายเลย มีแต่คำโปรยที่ชี้ไปถึง “ท้องถิ่น”​“ชนบท” แถมสันหนังสือยังมีดีไซน์เป็นรูปตอไม้มีวงปีหนาแน่น เข้ากับแก่นเรื่อง “สัมปทานป่าไม้” ที่ปรากฏสั้นๆ ในเจ็ดหน้าสุดท้ายอย่างกับแกะ ส่วนคำบอกกล่าวของบรรณาธิการและผู้เขียน ก็พูดย้ำเรื่องท้องถิ่นจนทำให้นึกอยากตีความนิยายว่า อ๋อ ชนบทและอาถรรพ์ป่ารกทึบในอดีตนี่ดีนัก เพราะมันทำให้คนหลุดพ้นได้อย่างอลังการ

เหนือนั้นขึ้นไปอีกก็ “กำหนด” กันตั้งแต่คิดโครงการนี้ขึ้นมาเลย ให้โจทย์กับนักเขียนไปเลยว่าไปศึกษาท้องถิ่นนะ เขียนอะไรก็ได้ แต่เราก็หวังว่าคนอ่านอ่านแล้วจะรู้สึกจรรโลงใจ บังเกิดจินตนาการที่จะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ ‘บ้าน’ หรือ ‘ชุมชน’ ที่ตนเองสังกัด “หลุดพ้น” ไปมีระดับคุณภาพชีวิตและจิตใจที่สูงขึ้น…

หรือว่าในโลกลวงตาที่ชื่อว่าวรรณกรรมนั้น การนำเสนอเจตจำนงเสรีที่แท้จริงจะเป็นเรื่องที่ไม่มีวันทำได้.

Standard

ควายทรงจำวันสารทจีน: ความสุข การงาน บ้าน การปฏิวัติ

กลิ่นพะโล้ติดจมูกอยู่เมื่อฉันรู้สึกตัวตื่น (ก่อนตื่นฉันฝันว่าได้เจอทักษิณด้วย อะไรจะควายแดงปานนั้น!) เป็นกลิ่นคาวเหนียวเหนอะของน้ำพะโล้ค้างทัพพี ค้างอยู่บนต่อมเหงื่อของแม่ค้าขายพะโล้ ค้างอยู่ในพื้นครัวสึกกร่อนและมวลอากาศของบ้านที่ฉันเคยอยู่เมื่อยังเป็นเด็กน้อย 

ห้องแถวชั้นเดียวห้องนั้นฉันเรียกว่าบ้านย่า ความทรงจำแรกเริ่มสุดในชีวิตก็คงเกิดขึ้นในบ้านหลังนี้ ภาพของพ่อแม่ฉันกลับมาหาตอนกลางดึก ย่าปลุกฉันตื่นงัวเงียมาเห็นตุ๊กตาหมีขั้วโลกตัวใหญ่; ภาพครั้งเดียวในชีวิตที่ฉันเห็นลูกเห็บ ย่าพาฉันถือแก้วไปรองไปเก็บเอาลูกเห็บบนถนน; ภาพโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน เหรียญสิบบาทที่ป้ายื่นวางกลางฝ่ามือฉันเป็นค่าขนมประจำวันหลังฉันลงจากรถมอเตอร์ไซค์สีแดง

แปลกเหลือเกิน นี่คงเป็นครั้งแรกที่ฉันได้กลิ่นพะโล้ติดตัวเมื่อตื่นนอน ทั้งที่เมื่อวานฉันก็ไม่ได้คลุกตัวในครัวที่บ้านย่า และทั้งที่เมื่อคืนฉันก็ได้อาบน้ำไปแล้ว
คงเป็นอาการหลอนไปเอง…

ฉันบอกป้าและย่าไว้ว่าวันนี้จะไปช่วยขายเป็ดขายไก่เนื่องในวันก่อนวันสารทจีน
ฉันไม่มีความทรงจำใดเกี่ยวกับวันสารทจีนเลย นอกจากการได้แกะกินขนมเทียนไส้เค็มขี้มือย่าแสนอร่อย (ส่วนไส้หวานกับขนมเข่งฉันรู้สึกว่าเลี่ยนเกิน)
นอกจากขนมเทียนกับขนมเข่งแล้ว ฉันไม่รู้หรอกว่าเขาทำอะไรกันวันสารทจีน
(ถามย่า ก็ได้ความว่า เขาเอาเป็ดเอาไก่เอาหมูไปไหว้ปู่ย่าตายาย เซ่นไหว้ศาลพระภูมิกัน)
หลังจากที่ได้ไปช่วยงานในวันนี้ ฉันก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าจริงๆ แล้วเขาทำอะไรกันยังไง
แต่ฉันไม่จำเป็นต้องรู้ ในเมื่อฉันคล้ายได้เข้าถึงกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการงาน 

* * * 

ที่บ้านย่าเริ่มงานกันตั้งแต่ตีห้า แต่กว่าฉันจะไปถึงก็เกือบเจ็ดโมงครึ่ง
ลูกค้าคนแรกยังไม่มา เป็ดรอต้มสองสามร้อยตัว กว่าจะหมดก็ทุ่มสองทุ่ม
ขนมเทียน ขนมเข่งมีให้กินแล้ว
เมื่อสองสามวันก่อนฉันเพิ่งช่วยย่าขูดมะพร้าว มะพร้าวอ่อนเอาไปใส่กับของหวานแป๊ะก๊วย มะพร้าวยังไม่แก่เอาไปทำมะพร้าวแก้ว ส่วนมะพร้าวแก่เอามาขูดเป็นฝอยทำไส้ขนม
ควายลืมตัววัวลืมตีนอย่างฉันก็ขูดไม่ค่อยเป็น ใจเร็วด่วนได้ ขูดออกมาเป็นลิ่มใหญ่ ขูดเอากะลาติดไปในไส้ก็แอบมี
แต่ทำไมขนมไส้หวานเสร็จแล้วมันอร่อยเหลือเกิน อร่อยเหี้ยๆ ทั้งที่ไม่เคยชอบมาก่อนเลย 

เนื่องจากฉันยังอ่อนหัดมากในเรื่องการทำความสะอาดเป็ด การถลกเครื่องในผูกหัวใจไตตับไว้ด้วยกัน การทำน้ำพะโล้ การต้มเนื้อให้ไม่เปื่อยจนเกินไป การใส่ผงชูรสให้อูมามิพอประมาณ การตักน้ำพะโล้ร้อนๆ ใส่ถุงพลาสติกสองชั้นไม่ให้ลวกและไม่ให้หก ฯลฯ เท่าที่ฉันทำได้ก็คือ กางถุงใส่เป็ดใส่ไก่ที่ทำเสร็จแล้ว วางบนตาชั่ง คิดราคา และทอนเงิน

แต่ก็ใช่ว่าการศึกษาของฉันจะช่วยให้ฉันคิดราคาได้ถูกต้องแม่นยำ มีหลายครั้งที่ฉันคิดเลขในใจผิด ใช้เครื่องคิดเลขผิดก็มี ยังดีที่กู้สถานการณ์กันได้ ฉันไม่ได้ก่อความเสียหายแก่ใครนัก

ฉันรู้สึกเหมือนเด็กฝึกงานคนหนึ่ง ที่ได้รับโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้การทำงาน ได้รับความเมตตาจากครูฝึกและลูกค้า เหนื่อยก็ให้พักดื่มน้ำเย็นหวานๆ หิวก็ได้จกข้าวเหนียวกินกับหนังเป็ดมันแผล็บๆ ฉันภูมิใจที่ได้ทำตนเป็นประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ พอเป็นอีกไม้หนึ่งมือหนึ่ง

สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันนั้น ฉันรู้สึกเหมือนสมาชิกหนึ่งของครอบครัว…
บ้านย่าตอนฉันเป็นเด็กนั้น กั้นไว้ห้องหนึ่งเลี้ยงเป็ดบ้านและไก่บ้าน ถึงเวลาเทศกาลป้าก็เชือดคอ ถอนขน ทำความสะอาด ทำเป็ดออกมาขาย
ฉันจำได้ว่าชอบกินหนังเป็ดเค็มๆ กรอบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ทุกวันนี้ก็ยังชอบ
ตอนเป็นเด็กฉันไม่เคยได้ช่วยป้าหรือย่าทำอะไรพวกนี้เลย เอาแต่ดูการ์ตูน วิ่งเล่น และไปโรงเรียน
ถึงวันนี้ บ้านย่ากลายเป็นเพียงบ้านเก่าหลังหนึ่งที่ฉันจะแวะไป คอกเป็ดกลายเป็นอดีตอันไกลโพ้น มันถูกแทนที่ด้วยเป็ดซีพีสีขาวผ่องตัวใหญ่ แช่แข็งแพ็คส่งมาจากกรุงเทพไม่ก็โคราช ย่าบอกว่ากำไรต่อตัวน้อยลง แต่ทำสะดวกกว่า
กิจการของป้าเติบโต ดูเหมือนป้าเป็นเจ้คนดัง
และป้าไม่เคยห่างจากย่าเลย

 

ลูกค้ามากหน้าหลายตา บางคนที่รู้จักฉันในลักษณะหนึ่งถามถึงการศึกษาของฉัน ฉันรู้สึกคร้านจะตอบ
ลูกค้ามากหน้าหลายตา ล้วนจีนปนลาว เขาเว่าลาวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาพูดไทยกับฉันเป็นส่วนมาก
ลูกค้ามากหน้าหลายตา บางคนรู้สึกเสียน้ำใจที่เราไม่ยอมลดราคา บางคนมาจัดการเลือกเป็ดด้วยตัวเอง บางคนกดเครื่องคิดเลขไปกับเรา บางคนเป็นคนใช้ที่มารับเป็ดแทน บางคนเป็นขาประจำพิเศษของป้า บางคนซื้อเป็ดซื้อไก่ซื้อหมูไปขายต่อ
ลูกค้ามากหน้าหลายตา ทำให้ฉันเรียนรู้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการขายของอย่างรวดเร็ว

ลูกค้าคนหนึ่งเดินลึกเข้ามาในร้าน แกบอกว่าในนี้ร้อนเหมือนเตาอบเลย
ในนี้ พัดลมหลายเครื่องหมุนเต็มที่ พัดเป่าหมูเห็ดเป็ดไก่ที่เพิ่งออกจากหม้อให้เย็นลงพอจะบรรจุถุง
ใช้เวลาสักยี่สิบสามสิบนาทกว่าจะหายร้อน ระหว่างนั้นญาติฉันคนหนึ่งก็เอามือจับดูความร้อน จุ่มน้ำมันลูบผิวเงางาม
ฉันไม่เห็นรู้สึกเลยว่ามันร้อนเหมือนเตาอบ อาจเพราะฉันไม่ได้ออกไปข้างนอก

 

ฉันพกหนังสือไปเผื่ออ่านสองเล่ม
แต่มันก็วางแน่นิ่ง ซึมซับมวลอากาศกลิ่นเป็ดต้มพะโล้ไปตลอดวัน
หลังฉันกลับจากงานขายเป็ดหน้าร้าน ฉันนั่งมองท้องฟ้ายามเย็นอยู่คนเดียว พลิกดูหนังสือรวมบทความ GENDERISM ของโตมร ศุขปรีชา
บทความการเมืองเรื่องเพศของเขาช่างกระชับและจับใจ ราวกับฉันได้พบสหายที่ไม่คาดว่าจะได้พบ
แต่ฉันอ่านไปได้เพียงสี่ห้าหน้า ฉันก็หยุดอ่าน
เพราะฉันรู้สึกอิ่ม อิ่มแล้วจากการทำงาน
ไม่ต้องการอะไรอีก
ไม่ต้องการการวิเคราะห์ปิตาธิปไตยอย่างซับซ้อนลึกซึ้ง ไม่ต้องการการวิพากษ์อำนาจรัฐที่คุกคามพื้นที่ของปัจเจกชน ไม่ต้องการแม้ความรักความอบอุ่นของมิตรสหาย ไม่ต้องการแม้ความหวังให้ระบบทุนนิยมซีพีล่มสลาย
ฉันเป็นสุขแล้ว

* * * 

คุณยายคนเก่งของฉันเป็นหนึ่งในลูกค้าวันสารทจีนของบ้านย่าด้วย
ฉันเอาเป็ดใส่ถุงสองชั้น ชั่งน้ำหนัก กดเครื่องคิดเลข รับเงิน หยิบเงินทอน เตรียมจะยกถุงใหญ่ไปใส่กระโปรงรถยาย
ยายพูดขำๆ ขึ้นมาว่า พอมันเรียนจบ จะให้มันมาขายเป็ดบ๊อ
ฉันไม่รู้ว่าคำพูดขำๆ นี้แฝงทัศนคติที่ไม่ค่อยขำไว้ยังไงบ้าง
แต่ในใจฉันนึกไปว่า ถ้าได้ทำจริงๆ ก็ไม่เลวเลย

 

หากไม้หนึ่ง ก. กุนที แขวนป้ายปิดร้านบะหมี่เป็ด เพื่อไปเป็นกวีเสื้อแดงเพื่อชาติ ไปเป็นนักปฏิวัติ ไปสถาปนาสถาบันประชาชน ผลักดันและเคลื่อนไหวเต็มกำลัง อย่างที่เขาบอกว่า “ถึงจุดหนึ่งถ้าคุณสุกงอมจริง มีวุฒิภาวะจริง คุณต้องรู้ว่าจะคืนอะไรให้กับประชาชน ต้องรู้ว่าหน้าที่ของปัญญาชนคืออะไร” (แม้ถึงวันนี้ ไม้หนึ่งเกือบจะเสียผู้เสียคนไปแล้วก็ตาม)

ควายแดงเดียวดายอย่างฉัน ก็คงต้องรู้เช่นกันว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งถ้าฉันสุกงอม สองเขางาม ฉันต้องรู้ว่าจะคืนอะไรให้กับคนที่เลี้ยงดูฉันมา ให้กับอุดมการณ์ที่หล่อเลี้ยงฉันมา สำหรับฉันแล้ว ฉันไม่ลังเลที่จะจำกัดขอบฟ้าชีวิตของตน เพื่อไปเป็นแรงงานช่วยป้าขายเป็ดในวันตรุษวันสารท เป็นแรงงานช่วยป้าทำพะโล้ตามความสามารถ ไปทำงานซ้ำซากและออกจะน่าเบื่อหน่ายจนกลิ่นคาวเหนอะติดเสื้อผ้าและเผ้าผม แต่กลับเป็นงานที่มีความหมายอย่างประหลาด โดยไม่ต้องตามถามหาความหมาย

 

นี่ไม่ใช่หรือคือความสุข,
นี่ไม่ใช่หรือคือการปฏิวัติที่แท้จริง.

Standard

ควายแดงเดียวดายไม่มี Paris Syndrome

ไม่รู้ทำไม ฉันถึงไม่เคยคิดอยากไปปารีส

ทั้งที่ฉันออกจะชอบนวนิยายการเมืองก้าวหน้าเรื่อง ความรักของวัลยา ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่เปิดด้วยประโยค “ข้าพเจ้ารักปารีส!”

ทั้งที่กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจัดเวทีทลายคุกบาสตีย์ รำลึกการปฏิวัติฝรั่งเศสกันเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งที่ปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎรล้วนไปเรียนที่ฝรั่งเศส

ทั้งที่ฉันหลงใหลในหนังของลุงวู้ดดี้อัลเลนเรื่อง Midnight in Paris ที่ย้อนอดีตพาไปดูศิลปินนักเขียนพลัดถิ่นสุดเท่ในปารีส ทั้งปิกัสโซ่ ทีเอสเอเลียต เฮ็มมิ่งเวย์ เกอทรูดสไตน์

ทั้งที่ปารีสฝังร่างคนผู้เป็นแรงบันดาลใจแก่ฉันอย่าง ปีแยร์บูร์ดีเยอ ซีโมนเดอโบวัวร์ วอลแตร์

ทั้งที่ภาพยนตร์อย่าง ปารีส ฉันรักเธอ หรือ Amélie ก็ฉายภาพปารีสที่ชวนค้นหา

ไม่รู้ทำไม ฉันไม่เคยคิดจะไปปารีส

* * *

ปารีส…
นอกจากความงามและความรู้ของเธอแล้ว
ผมก็ไม่ต้องการอะไรอีก

ปกหนังสือ “Paris Syndrome: ชีวิตอันระเหิดไปของชายไทยคนหนึ่ง” ของ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ โปรยไว้อย่างนั้น

Image

ฉันไม่รู้จะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่าอะไรดี ในเมื่อครึ่งค่อนเล่มอ่านเหมือนหนังสือพาเที่ยว ตอกย้ำภาพโรแมนติคของปารีส เมืองแห่งความงามและความรู้ แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยตามรายทางผนวกกับตอนจบกลับตบหน้าคนอ่าน (อย่างน้อยก็ฉัน) ให้รู้สึกว่า ชีวิตในปารีสของสุดแดน กลับกลายเป็นการกักขังเปล่าประโยชน์ ในรังของความงามและคลังของความรู้

ว่ากันว่าเมื่อไปเยือนที่ไหนเข้าสักสามวันห้าวัน ก็จะมีพลังท้นหลั่งให้เขียนหนังสือได้เป็นเล่ม ถ้าอยู่นานเข้าสักเดือนก็จะยิ่งลังเลใจไม่กล้าเขียน หากอยู่นานปีเข้า เมื่อลงมือเขียน อย่างมากก็ได้แค่ไฮกุ (หน้า ๒๒)

สุดแดนไปอยู่ปารีสนานปี (ได้ข่าวว่าเจ็ดปี) แต่ในหนังสือกลับเรียงบทด้วยฤดูกาล ฤดูใบไม้ร่วง–ฤดูหนาว–ฤดูใบไม้ผลิ–ฤดูร้อน ให้ความรู้สึกราวกับว่าไปอยู่ไม่กี่ปี

และหนังสือหนาร้อยกว่าหน้าเล่มนี้ก็ไม่ใช่ไฮกุ

หนังสือเล่มนี้พรรณนาสภาพเมืองและผู้คนอย่างละเอียดลออ แต่ราวกับผู้เขียนเป็นเพียงคนสังเกตการณ์ (แบบมีส่วนร่วม) เราไม่รู้เลยว่าผู้เขียนมี “โรคาปารีส” อะไร หรือชีวิตเขาได้ “ระเหิด” หายไปยังไง ในคำพรรณนาเหล่านั้น ความงามของปารีสก็ยังงาม วัดวัง(และรอยจูบ)งามเรืองรอง และความรู้ของปารีสก็ชวนฉงนสนเท่ห์ แผงขายหนังสือที่สิงวิญญาณปัญญาชนจอมวิพากษ์วิจารณ์

(บางทีผู้เขียนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเป็นคนไข้หรือเปล่า อย่างที่เขาเกริ่นไว้ว่า “บางทีเรื่องราวที่จะได้อ่านต่อไปนี้ อาจเป็นบันทึกของคนไข้ปารีสซินโดรมชาวไทยรายหนึ่งก็เป็นได้” – โรคปารีสซินโดรมเป็นอาการทางจิตที่เกิดขึ้นกับคนที่หลงใหลกรุงปารีส เมื่อมาเยือนแล้วก็ตะลึงลานจนอาจเกิดภาพหลอน)

หากสุดแดนมี Paris syndrome ก็นับว่าเขา “เก็บอาการ” ได้แนบเนียนมาก ราวกับต้องคำสาปของปารีส (ก็ในเมื่อกระสันอยากรู้จักมันนัก) ให้พูดถึงความงามของมัน พูดถึงความรู้ของมัน บรรยายภาพประกอบโรแมนติคของมันไม่ขาดสาย จนคำสาปคลายตัว เขาจึงค่อยได้เอ่ยคำอย่าง “ภาพลวง ภาพลวง” และคำถามอย่าง หรือว่าสรวงสวรรค์บนโลกนั้นไม่ได้มีอยู่จริง? 

เช่นนี้แล้ว เราคงไม่สามารถอ่านถ้อยคำที่ฟังดูโรแมนติคได้อย่างใสซื่ออีกต่อไป ถ้อยคำอย่าง “เมื่อเราได้สถาปนาความสัมพันธ์หรือสร้างความคุ้นเคยกับเมืองใดเมืองหนึ่งสักแห่ง เช่นปารีส (หรือกับใครสักคนก็ตาม) นับตั้งแต่นั้น ปารีส (หรือใครคนนั้น) ก็จะเป็นหนึ่งเดียวสำหรับเรา และเราเองก็จะเป็นหนึ่งเดียวกับปารีส (และใครคนนั้น) ด้วยเช่นกัน” ก็เสื่อมมนตร์ขลังลงฉับพลัน เมื่อเราตระหนักได้ว่า การเป็นหนึ่งเดียวกับปารีส หมายถึงการระเหิดหายไปของชีวิตด้วย

ในเสี้ยวหนึ่งของหนังสือ สุดแดนผู้ขวนขวายศึกษาภาษาฝรั่งเศสจากพจนานุกรมหลายเล่ม พูดถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นสาวชาวเวียดนาม ผู้มาปารีสแต่ไม่ยอมพูดฝรั่งเศส พูดแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น สุดแดนตีความว่าแกจะ “แก้แค้นและเอาคืน” อดีตเจ้าอาณานิคม

หรือคนอย่างสาวชาวเวียดนามแบบนี้เท่านั้น –คนที่ปฏิเสธที่จะพูด– คือผู้ที่จะรอดพ้นจากคำสาปของปารีส

ส่วนคนที่พูด แม้จะจืดจาง หวานอมขมกลืน กับปารีสเพียงใด คำพูดก็ถูกเคลือบไปด้วยคำสาปนั้นเสียสิ้น…
คำสาปที่จะพาผู้คนให้มาหลงใหลในปารีส และให้มันมาดูดกินชีวิตไปเป็นการตอบแทน
คำสาปที่สัญญาผู้คนไว้ด้วยถ้อยคำอย่าง “การปฏิวัติ” แต่ไม่เคยพาเขาไปถึงฝั่งฝัน

* * *

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า เราอาจต้องลืมความรู้และความงามทั้งหมดไปเสีย เพื่อเราจะได้เป็นอิสระ

ฉันเห็นว่ามีทางเลือกอีกอย่างน้อยสองทาง

ทางหนึ่งคือทางของสาวชาวเวียดนามคนนั้น
เธอปฏิเสธที่จะจำปารีสในแบบที่ใครๆ จำ
และเธอปฏิเสธที่จะถูกปารีส(จอง)จำ

อีกทางหนึ่ง, อาจจะง่ายกว่า
ก็คือไม่ต้องไป
จะได้ไม่ต้องจำ
และจะได้ไม่ต้องลืม

ฉันคงเลือกไม่ไปปารีสหรือฝรั่งเศส,
(อย่างน้อยก็ยังไม่มีแผนในตอนนี้)

ให้เธอมีตำนานซีซีฟัสของอัลแบร์กามูต่อไป
(อัลแบร์กามูเกิดที่แอลจีเรีย แต่ไฉนภาพเขาจึงผูกโยงกับปารีสและฝรั่งเศส?)
ส่วนฉันขอแค่มีควายแดงเดียวดายของฉันก็พอแล้ว.

Standard

. . . อากาศเริ่มคล้ายเตาอบเผาถ่าน ควายเดินลากไถไปหายใจฮืดฮาดและหอบแรงๆ เป็นจังหวะสลับกัน ขณะคนบังคับหางไถไปได้สักชั่วโมง ปากคอเริ่มแห้งผาก น้ำลายเหนียวติดคอ ต้องเทียวหยุดไถ ใช้ครุตักน้ำจากบ่อดินขึ้นมาดื่ม และหิ้วไปให้ควาย ที่เหลือดื่มที่จัดการสาดราดตัวมันด้วย ถ้าร้อนมากๆ บางทีต้องเอาดินโคลนมาทาหลังกันแดดให้มัน

—ธีรยุทธ บุษบงค์ เรื่อง “ลูกส้มมอเมี่ยงปลาร้า” จากหนังสือ “ทางหอม” หน้า ๕๒

. . . อากาศเริ่…

Quote

ทางหอม: โหยหาอดีตอะไรทำไม?

“ส้มมอคืออะไลเหลอ” ฉันส่งเสียงถามพี่เลี้ยงที่อยู่กับบ้านฉันมาสิบแปดปีแล้ว

หนังสือในมือฉันเปิดหน้า ๒๘ ทิ้งไว้ สองสามบรรทัดแรกของบทกวีนั้นเขียนว่า ส้มมอต้นข้างโพนผักบั่วหมู่นั้น ลูกดกน่าอัศจรรย์หลายร้อยพันรอปันแบ่ง แก่เผ่าพันธุ์ชาวสวนแห่งหอมแดงวิถี

“ฮึ?”

“ต้นส้มมอน่ะ” ฉันถามซ้ำ พร้อมเอียงหน้ากระดาษให้ดู ไม่แน่ใจว่าควรออกเสียงเน้นพยางค์ไหนว่า ส๊มมอ หรือ ซมมอ อันเป็นอาการกระย่องกระแย่งทางภาษาของควายลืมตัววัวลืมตีนอย่างฉัน

“ส้มมอ… ก็ต้นสมอไง ลูกมันเปี้ยวๆ เอาไปใส่แกงได้” พี่บอกฉัน

ฉันตอบไปว่านึกไม่ออก

“เดี๋ยวพุ่งนี้พี่กุ้งเอามาให้ดูนะ”

“ฮะ… แล้วผักบั่วคืออะไลอะ”

“ผักบั่ว… ก็หอมแดงเด๊”

ฉันรู้สึกโง่เสียเต็มประดา เป็นลูกอีสานแถบที่เขาปลูกหอมกระเทียมขายเป็นล่ำเป็นสันจนมีจารึกไว้ในคำขวัญจังหวัดซะเปล่า ตอนหอมเน่าโชยไกลหลายกิโลเมตรฉันก็ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนเขาเรียกหอมแดงว่าผักบั่ว

* * *

Image

“ทางหอม”​ เป็นเรื่องราวของวิถีชีวิตชาวสวนหอมแดง เล่าอย่างหมดจดงดงามผ่านร้อยกรองที่มีกลิ่นอายแบบผญาอีสานในส่วนแรกของหนังสือ คือความงามอันผลิบานมาจากร้อยแก้วในส่วนหลังของหนังสือ เรื่องราวของ ธีรยุทธ บุษบงค์ ตั้งแต่เป็นเด็กเมื่อสักสามสิบปีก่อนโน้น ช่วยพ่อทำสวนหอมแดงกับควายเพื่อนยาก เจียระไนประสบการณ์ลำบากตรากตรำเป็นบทเรียนเรื่องปรัชญาชีวิต

ฉันไม่แน่ใจนักว่า ฉันเหมาะกับการอ่านหนังสือเล่มนี้หรือเปล่า ฉันจะอ่านได้ผิดแผกไปจากที่คนเขียนรู้สึกนึกคิดเพียงใด และตอนคนเขียนเขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านในใจของเขาคือใคร(กันแน่)

ผู้เขียนโหยหาอดีตที่เป็นของเขา ความทรงจำที่ได้มอบคุณค่าให้แก่ชีวิต ปัจจุบันผู้เขียนเป็นครูภาษาไทยโรงเรียนมัธยมในชุมชนแถวบ้านเกิด เขาสร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมาในชุมชน ใน “ซุมสวนหอมวรรณกรรม” ที่มีวัตถุประสงค์ “เผยแพร่วรรณกรรมสร้างสรรค์สู่มือและใจเยาวชนในโรงเรียนยางชุมน้อยพิทยาคม โรงเรียนอนุบาลยางชุมน้อย (หน่วยคุรุราษฎร์รังสรรค์)” (หน้า ๑๓๗) จึงเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า นอกจากเพื่อตัวเขาเองแล้ว ผู้เขียนก็กำลังมอบ “มรดกทางความทรงจำ” (๑๗) ให้แก่คนรุ่นหลังในชุมชน ให้ได้รู้ว่า อดีตที่ลำบากลำบน ไม่มีรถไถ ไม้รกทึบ เครือญาติยังเกาะเกี่ยวกัน ก็ยังมีคุณค่าบางอย่างให้โหยหา มีภูมิปัญญาพื้นบ้านให้เรียนรู้ มีบทเรียนให้จดจำ

แต่ในฐานะ “งานวรรณกรรม” ที่มีนักเขียนพี่เลี้ยงช่วยขัดเกลา ผู้เขียนก็ได้กรองภาษาฟังพูดของคนพื้นถิ่นให้กลายเป็นงานสร้างสรรค์สำหรับผู้เสพทั่วไป อย่างที่ผู้เขียนบอกไว้ว่า “พยายามปรับกระบวนความให้เข้าสู่เส้นทางการแสดงออกทางภาษาสร้างสรรค์ หรือที่เรียกวรรณศิลป์ แบบตามมีตามเกิด” (๑๘) ในส่วนหลังของหนังสือที่เป็นเรื่องเล่านั้น คำลาวส่วนใหญ่จะมีคำไทยขนาบข้าง อย่าง “กลัวย้าน” “คิดฮอดคิดถึง” “ปลาแดกปลาร้า” “ผักบั่วหัวหอม” ฉันไม่คิดว่าคนทั่วไปใช้ภาษาแบบนี้ ดูพิลึกๆ อยู่ มีอยู่ครั้งหนึ่งกลัวคนอ่านไม่เข้าใจว่า “ฮวงครุ” คืออะไร พี่แกก็เลยวงเล็บไว้ว่า (รวง)

แต่ถ้าเทียบกับ “ลูกอีสาน” ของคำพูน บุญทวีที่ใช้ภาษาไทยมาตรฐานแสนสะอาดสะอ้านเป็นเสียงเล่า ฉันรู้สึกว่าเสียงเล่า “ทางหอม” ประกอบกันขึ้นมาได้มีชีวิตชีวามากกว่าเยอะเลย อย่าง “หอมที่เพิ่งแทงหน่อสางหลางราวเด็กตัวน้อยตัวเล็กแดงกำลังหัดดูดนม” (๖๙) อ่านแล้วก็รู้สึกสมองแตกหน่อสางหลาง หรือ “ข้อยก็ได้แต่หวังว่า ชุมชนคนสวนหอมจะเดินตามวิถีนั้นอยู่บ้าง พอให้มีเชื้อแนวของดีของเก่าหลงเหลือค้างคาอยู่จักหน่อย” (๑๐๓) ก็เหมือนมีคนรู้จักมานั่งพูดให้ฟัง หรือ “จากบ้านมาสวน ระยะทางประมาณว่าลำเก้ากลอนสิบกลอนจบ นับว่าไม่ใช่ระยะทางสำหรับการเดินเล่นอย่างชมดงลำดวนในสวนสมเด็จแต่อย่างใด” (๕๐) ก็ยิ้มออก เพราะฉันชอบเดินสวนสมเด็จ แต่ก็ให้ฉงนสงสัยว่าลำกลอนนึงมันยาวขนาดไหนกัน

อาจพอพูดได้ว่า ผู้เขียนโหยหาอดีต ในใจนึกให้ชุมชนสืบต่อความทรงจำ และเพื่อให้ผู้อ่านคนอื่นๆ ทั่วไปได้สัมผัสและซาบซึ้งไปกับความงามของวิถีชีวิตแบบเดิมด้วย

แต่ฉันก็ไม่รู้จะจัดวางตัวเองลงไปอย่างไรอยู่ดี

* * *

ควายแดงอย่างฉันมีแนวโน้มจะส่ายเขาปฏิเสธแนวคิดเชิดชูบูชาวิถีพอเพียงที่ทำให้ทุกคนยากจนอย่างเป็นสุข ส่ายเขาปฏิเสธคนที่เอาแต่โทษๆ ว่าบริโภคนิยมทำให้คนสมัยนี้ศีลธรรมเสื่อมทราม

ฉันอาจจะคาดโทษไว้ล่วงหน้าว่าหนังสือเล่มนี้จะมาแนวนั้น นั่นอาจเป็นเหตุให้ฉันวางหนังสือเล่มนี้ไว้นานปี

เมื่อได้มาอ่านแล้ว ที่คาดไว้ก็ไม่คลาดเคลื่อนเท่าไหร่หรอก แต่ฉันก็ได้ทำความเข้าใจให้ละเอียดมากขึ้นว่า “อดีต” ที่ผู้เขียนโหยหานั้น คืออะไรกันแน่? โหยหาไปทำไม?

เขาโหยหาทุกอย่างที่ไม่ใช่ “สมัยใหม่” รึเปล่า? โหยหาเกวียนเทียมควาย โหยหาทางขรุขระ โหยหาต้นไม้ โหยหาส้วมธรรมชาติ โหยหาพยาธิใบไม้ในตับ โหยหาความลำบากลำบน โหยหาค้อนทุบดินที่ไร้ประสิทธิภาพ โรแมนติคแบบเอ็นจีโอคนเมืองรักชุมชน อะไรแบบนั้นหรือเปล่า?

หรือเขาโหยหาการจับกบจับเขียดจับอะไรแปลกๆ มากิน โหยหา “ความเป็นอีสาน” หลงใหล “ความเป็นอื่น” แบบเจ้าอาณานิคมในประเทศที่ได้อ่าน “ลูกอีสาน” แล้วชอบ เพิ่งรู้ว่าต่างจังหวัดเป็นแบบนี้ อะไรแบบนั้นหรือเปล่า?

ฉันพบว่า ไม่ใช่!

แม้ผู้เขียนจะวางตัวเองอยู่ฝั่งอนุรักษ์ของเก่าของดีที่คนแถวบ้านมักไม่เห็นค่าเสียแล้ว แต่เขาก็ยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป ไม่ได้คิดแทนคนอื่น อย่างตอนที่เขาอาลัยอาวรณ์กับที่ชาวบ้านโค่นป่าดอนกะยอมแห่งความทรงจำเสียจนโล่งเตียน เขาบอกว่า “นี่อาจเป็นเฉพาะข้อยกระมัง ชาวบ้านคนอื่นเล่า ข้อยมิอาจไปค้นเค้นความรู้สึกมาเล่าสู่กันฟังได้”​ (๘๒)

หรืออย่างตอนที่เขายอมรับว่าการ “ลงแขก” นั้นอาจหมดสมัยไปแล้ว เมื่อการ “ว่าจ้าง” ญาติๆ ให้มาช่วยทำงานนั้นเปลืองทรัพยากรน้อยกว่า เพียงแต่ทิ้งท้ายเล็กๆ ไว้ว่าการ “ไม่เห็นแก่เงินจนเกินงาม” ก็ยังเป็นวิถีที่ควรเคารพ (๑๐๓)

ถึงเขาจะขอบคุณดินแข็งก้อนใหญ่ในสวนหอม “ที่ให้โอกาสชีวิตได้ลิ้มรสความลำบาก” แบบต้องเอาค้อนไม้ทุบ ทุบ ทุบ จนฝ่ามือปริแตกเลือดซิบ (๖๒) แต่เขาก็ไม่ได้หลงใหลได้ปลื้มกับความลำบากลำบนเหมือนพวกลูกคุณหนูที่อยากปลดกระฎุมพี เพราะผู้เขียนก็นึกขอบคุณย่าผู้เก็บออมเงินจากการมัดหอม ให้เขาได้มีวันนี้ “วันที่ไม่ต้องลำบากในนาสวนอย่างที่เคยเป็นมาในช่วงเรียนกศน.” (๑๒๘) วันที่เขาเรียนไปทำสวนไป ทำงานหลังขดหลังแข็งอยู่เป็นปีๆ

มันทำให้เห็นว่า ความลำบากไม่ได้มีคุณค่าในตัวของมันเอง แต่มันช่วยทำให้เขาเรียนรู้อะไรบางอย่าง

และผู้เขียนก็มิได้ดัดจริตบอกว่ามอเตอร์ไซค์หรือรถกระบะเป็นปีศาจทุนนิยมเช่นนักบุญพอเพียงที่จะพาสังคมนิพพานทั้งหลาย ถึงจะบรรยายภาพเกวียนเทียมควายและการสูญหายไปของมันอย่างโรแมนติคเพียงใด ในวรรคที่เขาบอกว่า “สมัยนี้มีรถยนต์ จึงตัดปัญหายุ่งยากในการขนอุปกรณ์เหล่านี้” (๙๑) ก็ไม่ได้มีน้ำเสียงประมาณว่า เสียดายจังเลย เดี๋ยวนี้รถยนต์ทำให้เรารักสบายมากขึ้นเสียแล้ว

ฉันค้นพบว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เขาโหยหา ไอ้ที่เขาเรียกว่า “วิถีชาวบ้าน” น่ะ ไม่ใช่ “เศรษฐกิจพอเพียง” เขาไม่ได้ปฏิเสธ “ทุนนิยม” เขาแค่เสียดายความละเมียดละไมบางอย่างที่ความเปลี่ยนแปลงได้พัดพาไป (โอเค บางทีอาจจะมากไปหน่อยตามประสานักอนุรักษ์ชุมชน แต่ก็ไม่ได้ดัดจริตเลย)

เขาเสียดายที่เดี๋ยวนี้ไม่มีช่างฝีมือที่ทำบัวฮดน้ำอย่างประณีต ชนิดที่ว่า “เจ้าของบัวจะหลงรักบัวหาบนั้นตั้งแต่แรกเจอทีเดียว” (๗๒) ทำนองเดียวกับที่ฉันเสียดายของเล่นสมัยเด็กๆ ที่ทำจากไม้ ที่เดี๋ยวนี้หาไม่ค่อยได้แล้ว

และเอาจริงๆ ถ้าผู้เขียนอยากจะปฏิเสธการแยกส่วนการผลิต หันมาทำเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ ฉันก็เห็นว่าชอบธรรมดี เพราะเขาโหยหาอดีตของเขาเพื่อตัวเขาเอง ไม่ใช่ราษฎรอาวุโสโหยหาอดีตของคนอื่นแล้วมายัดเยียดให้คนอื่นๆ อีกที

ฉันจึงอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างเพลิดเพลิน

แม้ฉันจะยังตอบตัวเองไม่ได้ ว่าฉันอ่าน “ทางหอม” ด้วยโหยหาความทรงจำที่ไม่เคยเป็นของฉันหรือเปล่า ว่าฉันโหยหาภาษาที่ฉันฟังได้แต่พูดไม่ได้หรือเปล่า ว่าฉันโหยหาอดีตของคนอื่นที่ฉันเองเป็นผู้ทำลายลงไป (imperialist nostalgia) หรือเปล่า

ฉันยังตอบตัวเองไม่ได้ ว่าควายแดงเดียวดายอย่างฉันจะโหยหาอดีตอะไรทำไม,,

* * *

บนผืนดินนี้แต่ก่อนก็ไม่มีทาง เมื่อมีคนเดินกันมากขึ้น ก็กลายเป็นทางขึ้นมาเอง

—หลู่ซิ่น ตอนจบเรื่องสั้น “บ้านเกิด”

แม้ในระยะเวลาปัจจุบัน ที่ ‘ทาง’ และความหวังใหม่ของหลู่ซิ่นและคนร่วมสมัยได้ถากถางสร้างขึ้นมาอย่างยากเย็นจะล่มสลายกลายเป็น ‘ทางชำรุด’ ไป ผมก็ยังมีความรู้สึกที่ดีกับ ‘ทาง’ เพราะมันได้เป็นเพื่อนทางใจและทางความคิดที่ดีต่อผม

—ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากบทความ “วรรณกรรมกับการเคลื่อนไหวปฏิวัติจีน: หลู่ซิ่น”

Standard

อารยันสยบมาร: การเมืองเรื่องร่างกายและสีผิวในการ์ตูน “ปัญจาวุธชาดก”

“ประเทศไทยเราไม่มีการเหยียดผิว ฉันเกิดและโตที่เมืองไทย ฉันจึงไม่รู้จัก racism ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาที่มีการกดขี่คนผิวดำเป็นทาส และยังมีระบบแบ่งแยกผิวหลังจากนั้น จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับฉัน”

คนไทยที่ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกามีความคิดทำนองนี้อยู่มาก

ควายแดงอย่างฉันได้ยินแล้วก็ได้แต่ส่ายหัว

แต่ถ้าฉันเกิดมาเป็นวัวตัวขาวอมชมพู ฉันอาจจะหลงเชื่อไปอย่างเขาก็เป็นได้

วันนี้ฉันบังเอิญไปเจอหนังสือการ์ตูน “ปัญจาวุธชาดก” ที่โฆษณาตัวเองไว้ว่าเป็น “การ์ตูนสนุกพร้อมข้อคิดสะกิดใจ”

Image

แค่เห็นปก ก็เริ่มสะกิดใจแล้ว พับผ่าสิ!

พอฉันพลิกๆ ดู ฉันก็เห็นว่านี่เป็นตัวอย่างอันดี ของ racism ในสังคมไทย (ในยูทู้บมีคลิปการ์ตูนด้วย แต่ภาพไม่เหมือนกับในหนังสือนะ http://www.youtube.com/watch?v=c8yjaPgMFww)

ขอเล่าเรื่องสักหน่อย พระเอกของเราคือโอรสของเจ้านครพาราณสี ฉลาดปราดเปรื่อง ขี่ม้าก็เก่ง รำดาบก็เก่ง แต่งตัวก็หล่อ ซิกแพ็คก็แน่นเปรี๊ยะ จมูกก็โด่ง ผิวก็ขาว พระเอกของเราไปศึกษาศิลปวิทยาจนครบถ้วนกระบวนท่าอาวุธทั้งห้าอย่าง สมชื่อปัญจาวุธที่โหรทำนายไว้ กราบลาอาจารย์กลับบ้านของพ่อ แต่พระเอกของเราเลือกทางเดินในป่าที่ดูแปลกตา ผ่านหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ชาวบ้านก็เลยเตือนพระเอกของเราว่า “อย่าไปทางนี้เลย ในป่านี้มียักษ์ขนเหนียวอาศัยอยู่ ถ้ามันเห็นเจ้า มันต้องจับเจ้ากินแน่ๆ”

แต่พระเอกของเราก็หาหวาดหวั่นไม่ ก้าวย่างต่อไปสมกับเป็นพระเอก ก็เลยไปเจอยักษ์ผู้มีขนเหนียวเป็นตัง ตัวดำเป็นสีขี้ม้า ตาแดงก่ำ เขี้ยวขาวงอกเด่น หัวล้านครึ่งกบาล ผมที่เหลือหยิกหย็องเป็นหย่อมๆ เหมือนรูปวาดเงาะป่า ตัวสูงห้าหกเท่าของพระเอกของเรา ขนดกดำไปหมดบนหัวไหล่ หน้าอก หน้าท้อง แผ่นหลัง ท่อนแขน ไปจนถึงหน้าแข้ง

เห็นพระเอกของเราเดินมา ก็รำพึงอย่างสบายใจว่าโฮะๆ ดีจริง วันนี้มีอาหารเดินมาให้เรากินเลย แต่พระเอกของเราหรือจะยอม เขาใช้อาวุธทุกอย่างตบตียักษ์ไป แต่ฟาดอะไรไปก็ติดขนหน้าแข้งมันหมด เหวี่ยงหมัดฟาดแข้งไป ก็ติดแหง็กบนหนังเหนียวๆ ของยักษ์มันนั่นแหละ

และในขณะที่พระเอกดูจนตรอกนั้น ก็ได้วางไพ่ใบสุดท้าย บอกยักษ์ว่าในตัวของข้ามี “วชิราวุธ”* “ถ้าเจ้ากินเรา เจ้าก็ต้องตายเหมือนกัน เพราะวชิราวุธในท้องเราจะบาดไส้พุงของเจ้าให้ขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ฮ่ะ ฮ่ะ ฮ่ะ”

ปัญจาวุธขู่ฆ่า

ปัดโถ่เว้ย! พระเอกของเราไม่แน่จริงนี่หว่า หมดทางสู้ก็ขู่เขา

ยักษ์ได้ฟังดังนั้นก็ครั่นคร้าม เลยวางพระเอกของเราลง

ไม่ทันจะปัดฝุ่นปัดขนออก พระเอกของเราก็ประทับบนโขดหินแล้วเทศนายักษ์ด้วยสุรเสียงอันไพเราะ ว่าเจ้าก่อกรรมทำเข็ญไว้มาก จึงต้องมาเกิดเป็นยักษ์ มาฆ่าแกงคนอื่น ตายไปแล้วเจ้าก็จะไปเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้มาเกิดเป็นคน เจ้าก็จะอายุสั้น ฉะนั้นเจ้ารักษาศีลห้าเถอะ

พี่ยักษ์ก็นั่งคุกเข่า ประนมกรเสมอคาง ฟังคำเทศนาของพระเอกของเราโดยดุษณี ภาพถัดไปเป็นพี่ยักษ์นั่งขัดสมาธิ หลับตาพริ้ม

แล้วนิทานชาดกก็จบ เฉลยว่าพระเอกของเราคือพระพุทธเจ้า ส่วนพี่ยักษ์ก็คือองคุลีมาล พล็อตเรื่องเดิม พระเอก-ผู้ร้าย ไม่น่าแปลกใจเลย

เล่ามาเสียยาว แล้วมันเกี่ยวกับ racism ยังไงวะ?

ฉันว่ามันเกี่ยวมากๆ เลย ทั้งในตัวเนื้อเรื่องเองที่เป็นเรื่อง “อารยันสยบมาร” และตัวภาพการ์ตูน ที่เป็นการวาดภาพระบายสีร่างกายของพระเอกให้เป็นมนุษย์ผิวขาว และวาดภาพระบายสียักษ์ให้เป็นสัตว์อมนุษย์ตัวดำ

ฉันจำได้ว่าตอนเรียนประวัติศาสตร์อารยธรรมอินเดียในหลักสูตรม.ปลาย เขาสอนฉันว่า อารยธรรมอินเดียเกิดขึ้นมาได้จากที่คนอารยันผิวขาวตัวสูงใหญ่ มารุกรานพวกฑราวิฑ พวกดราวิเดี้ยนผิวคล้ำ ที่เป็นชนพื้นถิ่นอยู่ก่อนให้มาอยู่ใต้อาณัติของตน

มารู้เอาทีหลังว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ฉบับดักดาน ฉบับคนขาวหลงตัวเอง ออกนาซีนิดๆ คิดว่าเชื้อสายอารยันของตนเป็นผู้สร้างสรรค์ความเจริญแต่ฝ่ายเดียว

นิทานเรื่องนี้ก็สะท้อนพล็อตเรื่องแบบนั้น คือมียักษ์อาศัยอยู่ในป่า ตอนจบเจ้าชายจากกรุงพาราณสีมาปราบ แล้วก็เทศนาจนยักษ์เลื่อมใสศรัทธา

ฉันยังไม่ได้อ่านชาดกอย่างที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจริงๆ แต่ที่แน่ๆ ร่างกายของพระเอกของเรา กับตัวร้ายของเรา ก็แตกต่างกันชัดเจน ตั้งแต่ชื่อของยักษ์ “สิเลสโลมะ” แปลว่าผู้มีขนเหนียวเป็นตัง ก็พอสรุปได้ว่า “การมีขนเหนียวเป็นตัง” นั้นเป็นสิ่ง “อัปลักษณ์” “ไม่ศิวิไล” ส่วนพระเอกของเราเป็นถึงราชโอรสที่แกล้วกล้าสามารถ ขี่ม้า ยิงธนู รำดาบ รำกระบอง อะไรได้หมด ร่างกายของเขาก็คงกำยำ สมเป็นชายชาตรี อย่างไรก็ดี เราไม่รู้ว่าสีผิวของเขาเป็นอย่างไร รู้แต่เพียงว่ามี “พระลักษณะที่เปี่ยมด้วยบุญญาธิการ”

(เอ้อ ตอนฉันเป็นเด็ก ฉันกลัวญาติของฉันคนหนึ่งมาก เพราะว่าเขาตัวท้วมดำ และมีขนแขน! (แต่เดี๋ยวนี้ฉันกลับเห็นว่าขนดกเซ็กซี่ดีออก :3))

แต่การวาดภาพระบายสีโดยศิลปินไทย ได้เติมคำในช่องว่าง ปิดจินตนาการถึงร่างกายของพระเอกและผู้ร้ายของเรื่องไปหมดสิ้น พระเอกของเรากลายเป็น “อารยัน” สมบูรณ์แบบ ผิวขาว จมูกโด่ง หน้าคม ผมยาวสยาย สูงโปร่ง หล่อล่ำอย่างกับกัปตันอเมริกา อาจจะใส่ชุดแขก(ขาว)หน่อยพอให้ดูอินเดียๆ

ส่วนพี่ยักษ์ก็กลายเป็น “ปีศาจ/คนดำ” ผิวดำ ตาโปนแดงก่ำ จมูกแบน เขี้ยวงอก ไม่ใส่เสื้อผ้า (นอกจากกางเกงลิง) ผมหยิกหย็องจับกันเป็นก้อน มีขนขึ้นเต็มตัว ตัวใหญ่มหึมาแต่ไม่ได้สัดส่วน

อ่านมาถึงตรงนี้ท่านอาจบอกว่าควายแดงอย่างฉันอคติเกินไป ต้องวาดยักษ์ให้อัปลักษณ์น่ากลัวก็ต้องวาดออกมาทำนองนี้เพื่อสอนคติธรรม จะให้วาดยักษ์ตัวขาว เขี้ยวเล็กนิดเดียว หน้าเหมือนพระเอกซีรี่ส์เกาหลีเหรอ

(อืม ฉันก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร ช่วยไม่ได้นิ ญาติฉันเสือกตัวท้วมดำน่ากลัวเอง ตอนเด็กๆ ฉันก็เลยกลัว (มีคนสอนฉันว่่า ถ้าใครมักโกรธ ก็จะได้ไปเกิดเป็นยักษ์ และมีผิวคล้ำไม่สวยงาม ก็ช่วยไม่ได้เนาะ อยากมักโกรธเอง))

แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น คือคนวาดภาพและลงสีการ์ตูนเล่มนี้ ไม่ได้ทำเหมือนการ์ตูนไทยทั่วๆ ไป ที่คนทุกคนสีผิวเป็นเปลือกไข่กันหมด เล่มนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ตอนต้นๆ ที่เล่าเรื่องชีวิตพระเอกของเราตอนเป็นเด็ก มีภาพพระเอกของเราเรียนหนังสือกับคนอื่น (แน่นอน พระเอกของเราเก่งที่สุด) คนอื่นๆ นั้นมีสีผิวหลากหลาย คนหนึ่งถึงกับถูกวาดให้มีลักษณะเหมือนคนผิวดำตามแบบฉบับ คือผมหยิก ผิวน้ำตาลเข้ม จมูกแบน เสียด้วยซ้ำ

นั่นคล้ายจะหมายความว่า การ์ตูนนี้ไม่ได้เพียงสร้างร่างกายสองแบบ คือร่างกายมนุษย์(ผิวขาว) กับร่างกายอมนุษย์(ผิวดำ) เพื่อมาเป็นปฏิปักษ์กันแบบฉาบฉวย ดูคล้ายคนวาดจะตระหนักรู้ถึงความหลากหลายทางสีผิวของมนุษย์ด้วยกันเอง ดูคล้ายว่าจะเป็นอย่างนั้น…

แต่สิ่งที่เด็กผิวดำคนนั้นกำลังทำ กลับคือการนั่งคุกเข่า ยกนิ้วโป้งกดไลค์ให้พระสติปัญญาของปัญจาวุธกุมารที่นั่งอยู่บนตั่ง!

Image

ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ ภาพนี้ก็สะท้อน anti-black racism ที่ล่องลอยอยู่ในสังคม –เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเนื้อหนังมังสาของเรา– ได้โจ่งแจ้งเหลือเกิน คนตัวดำอยู่ต่ำกว่าคนตัวขาวเป็นเรื่องปกติ ในเรื่องความงาม ในเรื่องสติปัญญา ในเรื่องศีลธรรม

สังคมที่อ้างว่าตนไม่กีดกันแบ่งแยกเรื่องสีผิว แต่ก็มีที่ทางที่จำกัดจำเขี่ยให้กับคนผิวดำผิวคล้ำ ดำต้องดำเนียนและมั่นๆ ถึงจะสวย ยักษ์ต้องตัวดำ พระเอกนางเอกต้องตัวขาว (ถ้าเกิดมาตัวดำแบบเรยา เดี๋ยวโตขึ้นก็ขาวเองจ้ะ) และวลีพวก กะเทยควาย หน้าเงือก ควายแดง ก็ล้วนเกี่ยวพันกับ racism ทั้งนั้น (ฉันไม่รู้ว่าสำนวน “คนใต้ใจดำ” เกี่ยวพันกับสีผิวคล้ำของ “คนใต้” หรือเปล่า แต่ฉันรู้แน่ว่าไอ้คำ “ใจดำ” เนี่ยเกี่ยวกับ racism แน่ๆ)

ฉันเกิดและโตที่อีสานใต้ ฉันผิวคล้ำ แต่บังเอิญหน้าตาฉันไม่ได้ชัดเจนมากนักว่ามาจากไหน เดี๋ยวนี้ฉันอยู่ที่อื่น ทุกคราวที่ฉันกลับไปบ้านเกิด คนจะถามว่า ฉันขาวขึ้นนะ ไปอยู่กรุงเทพมา ฉันขาวขึ้นไหม ไปอยู่เมืองนอกเมืองนามานมนาน

และบางทีเวลาฉันอยู่กรุงเทพ ไปเปิดบัญชีธนาคาร ไปทำบัตรประชาชนใหม่ ฉันถูกทักว่า อ้าว เป็นคนอีสานหรอกเหรอ นึกว่าเป็นคนกรุงเทพ อ๋อ เดี๋ยวนี้ตามเมืองในอีสานเขาก็เจริญแล้วนี่เนาะ

ควายแดงอย่างฉันได้แต่ยิ้มแหยๆ

ในใจนึกอยากจะเป็นยักษ์กับเขาสักที.

*”ในท้องข้ามีวชิราวุธ” อภิธานศัพท์ท้ายเล่มแปลคำ วชิราวุธ ว่า “อาวุธอันเป็นสายฟ้า, อาวุธที่คมราวเพชร (แท้จริงแล้ว คือปัญญาอันรุ่งโรจน์)”… แหม๋ ถ้างั้นที่พระเอกของเรามีในท้องจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ดาบสายฟ้าน่ะสิ แต่เป็นปัญญาอันรุ่งโรจน์ของมหาบุรุษ ที่ยักษ์มารตัวไหนคิดบีฑาเข้าแล้ว ลำไส้ของมันต้องถูกบาดขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย!?! กูจะบ้า ร่างกายของมึงจะศักดิ์สิทธิ์อะไรได้ขนาดนี้

Standard

– ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕, วังไกลกังวล –

 

ข่าวการแข็งข้อของคณะราษฎรแว่วมาถึงพระกรรณของประชาธิปกขณะเขากำลังฟังโซนาต้าของชูเบิร์ตอยู่ในที่ประทับ แดดยามสายลอดแนวสนประดิพัทธ์เล่นลมพาเพลิน ประชาธิปกแปลกใจที่เขาไม่ได้รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงหรือพิโรธโกรธเคือง รำพึงเบาๆ เพียงว่าวันนั้นได้มาถึงแล้ว เสียงเชลโล่ลึกนุ่มทุ้มอยู่ในใจ ฟังครั้งใดก็ให้รู้สึกหวานอมขมกลืน ประชาธิปกได้ซื้อแผ่นเสียงวงใหญ่นี้เมื่อครั้งที่สำเร็จการศึกษาวิชาทหาร พ้นจากกิจวัตรอันแข็งขันเข้มข้นของการรับใช้ชาติพันธุ์สยาม ไปสู่การเป็นปุถุชนคนหนึ่งแถวชานชาลาสถานีรถไฟในยุโรป เขาซื้อแผ่นเสียงชูเบิร์ตนั้นไว้ การเป็นนายทหารผิวคล้ำที่เตี้ยที่สุดในโรงเรียนฝึก ทำให้ประชาธิปกรู้สึกโดดเดี่ยว ด้อย และเด็กอยู่เนืองๆ ดนตรีของชูเบิร์ตเป็นเสมือนหนึ่งปราสาทอันปลอดภัย พาใจไกลกังวลโดยแท้จริง แม้ในยามนี้ประชาธิปกจะไร้แล้วซึ่งที่ปรึกษาคนสำคัญผู้ถูกควบคุมตัวไว้ที่พระนคร แต่โซนาต้าของชูเบิร์ตที่ไล่โน้ตวนซ้ำด้วยอารมณ์ที่เดี๋ยวฝนตกเดี๋ยวแดดออก ได้ยังความรู้สึกสงบและปลอดภัยอย่างประหลาด จนฟังจบแผ่น กรวดทรายในเนื้อเสียงเงียบลงเหมือนคลื่นกระทบทรายแห่งหัวหิน ประชาธิปกเรียกเหล่าเสนาธิการมาประชุมพร้อมกัน อำมาตย์เหล่านั้นถวายความเห็นไปในทางเดียวกันว่าจะควรจะปราบพวกแข็งข้อให้ราบคาบ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรีแห่งองค์อธิปัตย์ หากประชาธิปกคลอนศีรษะ มิใช่เพื่อสลัดเสียงดนตรีของชูเบิร์ตออกไปจากมโนสำนึก หากเพื่อให้สุ้มเสียงหวานเศร้าเหล่านั้นลำเลียงไปทั่วสรรพางค์กาย

Standard